ตามที่มีการเสนอข่าวสารในโซเชียลมีเดียเรื่อง ระวังพายุทกซูรีเข้าถล่มภาคอีสาน และทำฝนตกหนัก 80% ทั่วประเทศไทย ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีผู้โพสต์ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยว่า ระวังพายุทกซูรีเข้าถล่มภาคอีสาน และทำฝนตกหนัก 80% ทั่วประเทศไทย ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” ไม่ได้มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าถล่มภาคอีสานแต่อย่างใด แต่จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในวันที่ 28 ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับในระยะต่อไป โดยพายุนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
ส่วนสภาพอากาศในวันที่ 29 ก.ค. - 1 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวลือนี้ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา , Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือโทรสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” ไม่ได้มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าถล่มภาคอีสานแต่อย่างใด แต่จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในวันที่ 28 ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับในระยะต่อไป โดยพายุนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม