กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง หลังได้โพสต์ภาพแชทที่ขอหัวหน้าลางาน เนื่องจากอยากไปดูใจแม่ป่วยหนักที่กำลังจะเสียชีวิต แต่หัวหน้ากลับไม่ให้ลา ซ้ำกลับถามว่าแบบนี้จะลาออกใช่ไหม พร้อมบอกให้มาเขียนใบลาออกหลังทำธุระเสร็จ จนสุดท้ายแม่ของเธอนั้นเสียชีวิตลง จึงคาใจว่าเธอนั้นผิดอะไร ทำแบบนี้เกินไปหรือไม่
ต่อมา เธอจะลงภาพคู่กับคุณแม่พร้อมแคปชั่นว่า "16.08.66 สูญเสียแม่ผู้เป็นที่รัก และเป็นหนึ่งเดียวในใจไป ขอให้แม่ไปเป็นนางฟ้าบนสวรรค์นะคะ ขอบคุณที่แม่เลี้ยงดู สั่งสอน ดูแลพลอยมาอย่างดี แม่ได้พักผ่อนแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไรนะแม่"
หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าวิจารณ์พฤติกรรมของ กบ หัวหน้างานผู้ซึ่งไร้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ โดยอยากจะรู้ว่าเธอนั้นมีหน้าตาอย่างไร รวมทั้งจะรับผิดชอบอย่างไรกับการตัดสินใจปฏิบัติกับลูกน้องเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางรายยินดีจะรับพลอยเข้าทำงานแทนหากลาออกจากที่เก่าจริงอีกด้วย
ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีลูกจ้างสาวขอลางานไปดูอาการแม่ป่วยหนัก แต่หัวหน้าไม่ให้ลาจนแม่เสียชีวิต หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
ในเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน
อีกทั้ง นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา (สสค.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546