จากกรณี วันที่ 24 ส.ค.66 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษา 11 สำนวน (ศาลรวมการพิจารณาเป็น 5 สำนวน ) โดยเเบ่งเป็น
1.คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 73,70,220/2565
2. คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 154,183/2565
3.คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 153,195/2565
4.คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 181/2565,52/2566
5.คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 215/2565,53/2566
คดีทั้ง 5 สำนวนนี้ สรุปข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาได้ว่า บริษัทออสติน ออโต้ คาร์ส จํากัด และบริษัท เดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จํากัด โดยนายยิ่ง, น.ส.บุณฑริการ์ และนายอินทระศักดิ์ หรือบอย ยูนิตี้ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนทั้งสองบริษัทดังกล่าว ขณะเกิดเหตุ บริษัทออสตินฯ มอบอำนาจให้ตัวแทนนำเข้าสินค้า สำแดงรายการสินค้าที่นำเข้าเป็นรถยนต์ยี่ห้อลัมบอร์กีนี รุ่นแกลลาโด้ แอลพี 560-4
ซึ่งความเป็นจริงสินค้าที่นำเข้าเป็นรถยนต์ ยี่ห้อลัมบอร์กีนี รุ่นอเวนทาดอร์ แอลพี 700-4 อันเป็นการสำแดงการนำเข้าเท็จ เพื่อให้เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรต้องเสีย อันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเนื่องจากรถยนต์รุ่นที่นำเข้าจริงมีราคาสูงกว่ารถยนต์รุ่นที่สำแดงในใบขนสินค้า
ภายหลังเมื่อมีการตรวจปล่อยรถยนต์ไปจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจปล่อยแล้ว ต่อมามีการนำรถยนต์ไปขอจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารที่เป็นใบขนสินค้าและใบรับรองการนำเข้า (แบบ32) ให้เป็นรถยนต์รุ่นที่นำเข้ามาจริง การกระทำของบริษัท ออสตินฯ จํากัด และบริษัท เดอะ แกลเลอรี่ฯ ในแต่ละสำนวนนั้น เป็นการร่วมกันกระทำ ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243,253 และ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 165 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 208
เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพ.ร.บ.ศุลกากรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนนายอุกฤษณ์ และนายไพฤทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศุลกากร ผู้มีหน้าที่ตรวจปล่อยรถยนต์แต่ละคันตามฟ้องที่บริษัทรถยนต์นำเข้า มอบอำนาจให้ตัวแทนนำเข้ามานั้น ทั้งสองคนมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจปล่อยตามระเบียบปฏิบัติที่กรมศุลกากรกำหนดไว้
ทั้งยังกรอกข้อความไม่ครบถ้วนในใบรับรองการนำเข้า (แบบ 32) ที่ผู้นำเข้าจะใช้เป็นหลักฐานในการขอจดทะเบียนรถยนต์ที่นำเข้าต่อกรมการขนส่งทางบก กลับมีการตรวจปล่อยรถไปโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ตรวจปล่อยร่วมกับหน่วยงานศุลกากรที่ได้รับมอบหมาย เป็นเหตุให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีอากรได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154(เดิม), 157(เดิม), 162(1)(3)(4) (เดิม) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 154(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
สรุปโทษตามคําพิพากษา 1. คดีอาญาหมายเลขดำที่ 73,70,220/2565
จำเลยที่ 1 บริษัทออสติน ออโต้ คาร์ส จำกัด ให้ปรับ 32,443,914.68 บาท
จำเลยที่ 2 บริษัทเดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ให้ปรับ 32,443,914.68 บาท
จำเลยที่ 3.นายยิ่ง ให้จำคุก 6 ปี
จําเลยที่ 4 น.ส.บุณฑริการ์ ให้จำคุก 6 ปี
จำเลยที่ 5 น.ส.รัญชยา ให้ยกฟ้อง
จําเลยที่ 6 นายอุกฤษณ์ ให้จำคุก 4 ปี
จำเลยที่ 7 นายอินทระศักดิ์ ให้จำคุก 6 ปี
คดีอาญาหมายเลขดำที่ 154,183/2565
จำเลยที่ 1.บริษัทเดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ให้ปรับ 58,336,532.88
จำเลยที่ 2 นายยิ่ง ให้จำคุก 6ปี
จำเลยที่ 3 น.ส.บุณฑริการ์ จำหน่ายคดีชั่วคราว (หลบหนีก่อนให้การ)
จําเลยที่ 4 นายอุกฤษณ์ ให้จําคุก 4 ปี
จำเลยที่ 5 นายอินทระศักดิ์ ให้จำคุก 6 ปี
คดีอาญาหมายเลขดำที่ 153,195/2565
จําเลยที่ 1 บริษัทเดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ให้ปรับ 53,725,691.06 บาท
จำเลยที่ 2 น.ส.บุณฑริการ์ (หมายจับ)
จําเลยที่ 3 นายไพฤทธิ์ ให้จําคุก 4 ปี
จำเลยที่ 5 นายอินทระศักดิ์ ให้จำคุก 6 ปี
คดีอาญาหมายเลขดำที่ 181/2565,52/2566
จําเลยที่ 1 บริษัทเดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ให้ปรับ 63,133,622.22 บาท
จำเลยที่ 2 นายยิ่ง ให้จำคุก 6 ปี จำเลย
จำเลยที่ 3 น.ส.บุณฑริการ์ (ไม่รับฟ้อง)
จำเลยที่ 4 นายอุกฤษณ์ ให้จำคุก 4 ปี
จำเลยที่ 5 นายอินทระศักดิ์ ให้จำคุก 6 ปี
คดีอาญาหมายเลขดำที่ 215/2565, 53/2566
จำเลยที่ 1 นายอินทระศักดิ์ ให้จำคุก 6 ปี
จำเลยที่ 2 นายไพฤทธิ์ ให้จำคุก 4 ปี
จําเลยที่ 3 บริษัทเดอะ แกลเลอรี่ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ให้ปรับ 61,506,550.02บาท
โดยทุกสำนวนศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ของกลาง จ่ายสินบน และเงินรางวัลตามกฎหมาย
ทั้งนี้ คดีนี้ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณารวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง 11 สำนวน ศาลรวมการพิจารณาเป็น 5 สำนวน (5 คำพิพากษา) ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 13 วัน