กลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นอย่างมาก เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์เตือนเป็นอุทาหรณ์สำหรับตัวเองและคนอื่นๆ ที่พักอาศัยในคอนโดหรือหอพัก เกี่ยวกับกฎระเบียบของการจอดรถ ของที่พักนั้นๆ หลังเธอโดนค่าปรับวันละ 1 พันบาท เนื่องจากจอดไว้นานเกิน 15 วัน งานนี้ชาวเน็ตเสียงแตก โดยระบุข้อความว่า
"เรื่องมีอยู่ว่าเรากลับต่างจังหวัดนาน แล้วจอดรถไว้ที่คอนโด คิดว่าปลอดภัยแหละ เพราะจอดในที่จอดได้ 1 เดือนผ่านไป พอกลับมาเจอใบแจ้งหนี้ที่ต้องชำระค่าล็อกล้อ เพราะจอดนานเกิน 15 วัน ปรับวันละ 1,000 บาท
เราแจ้งทางนิติไปว่า ไม่ทราบว่ามีกฎนี้ด้วย เค้าบอกว่าประกาศไปในแอปพลิเคชันของคอนโดแล้ว ซึ่งแอปนั้นเราแทบจะไม่ได้เข้าใช้เลย เลยไม่ทราบประกาศ สรุปขอเขียนคำร้องขอยืดหยุ่นลดค่าปรับไป รอผลตอบกลับว่าจะได้จ่ายเท่าไหร่
เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าที่อื่นมีเหมือนกันไหม สำหรับเรามันเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ทราบมาก่อน คนอื่น ๆ อาจจะรู้อยู่แล้วไหม ระวังน๊า ไปไหนนานๆเช็คกฎระเบียบหอพักของตัวเองให้ดีนะคะ เดี๋ยวจะเป็นเหมือนเรา
ปล.ค่าปรับแอบแพง น่าจะโทรมาแจ้งนิดนึง นี่ถ้าไม่ไปเช็กบล็อกคงไม่รู้เรื่องเลย"
นอกจากนี้เจ้าของโพสต์ ได้ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า "ส่วนตัวเธอนั้น เป็นผู้เช่า และตอนที่สัญญา ผู้ให้เช่าก็ไม่เคยบอกกฎนี้กับเธอ"
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมให้ความสนใจและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าผู้โพสต์จะโพสต์ดังกล่าวมาหลายวันแล้วก็ตาม โดยมีทั้งส่วนที่ไม่เห็นด้วยที่คอนโดจะทำแบบนี้ มองว่าไม่ยุติธรรมเหมือนเป็นการเอาเปรียบลูกบ้านมากเกินไป ซึ่งคอนโดควรจะติดต่อเจ้าของรถโดยตรง เพื่อแจ้งว่ามีกฎแบบนี้อยู่
แต่ก็มีบางส่วนที่เห็นด้วยกับทางคอนโด โดยระบุว่า "จอดรถส่วนกลาง ไม่ใช่ส่วนตัวครับ สิทธิของเจ้าของห้องมีแค่ในห้องชุดแค่นั้น แล้วโดยปกติคอนโดจะมีที่จอดเพียงพอแค่ ประมาณ 30-50% ของจำนวนห้องชุดเท่านั้นเอง ไม่ได้มีพอสำหรับทุกคน จึงต้องวนกันใช้ ไม่ใช่สิทธิจอดยาวๆ สำหรับคนใดคนหนึ่งครับ ยกเว้นคอนโดแพงๆ ที่ขายแล้วแถมสิทธิที่จอดรถเฉพาะห้องให้ด้วย
ปล. ถ้าซื้อบ้าน สิทธิจอดในบ้านเป็นของเรา แต่จอดที่ถนนหน้าบ้าน เป็นพื้นที่ส่วนกลางครับ"
"เป็นกฎของคอนโดค่ะ ที่อยู่ก็มี ห้ามจอดที่เดิมนานเกิน 7 วัน เป็นการวนที่จอดรถให้คนอื่นด้วยค่ะ แนะนำว่าก่อนไปควรแจ้งนิติไว้นะคะ และการเข้าไปอยู่สถานที่ไหนๆ ก็ควรอ่านกฎให้ชัดเจน แต่คิดว่ากรณีนี้นิติควรโทรสอบถามลูกบ้านก่อนและแจ้งก่อนจะมีการล็อกล้อเพื่อปรับนะคะ"