เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตถกเถียงกันสนั่นในโลกออนไลน์ กับกรณี "หุงข้าวพร้อมต้มไข่ในหม้อ" ที่งานนี้ทำเอาชาวเน็ตเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งคนที่เห็นด้วยกับวิธีแบบนี้เนื่องจากที่บ้านก็ทำแบบนี้เหมือนกัน กับอีกฝ่ายที่แนะให้แยกกันทำไปเลย เพราะเปลือกไข่มีสิ่งสกปรกเยอะ ถ้าจะทำพร้อมกันควรล้างไข่ก่อน ล่าสุด ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ เกี่ยวกับในประเด็นดังกล่าว ระว่า
"หุงข้าวพร้อมต้มไข่ .. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ (แต่ก็ไม่ได้แนะนำให้ทำนะครับ) "มีคำถามจากนักข่าวส่งมาวันนี้ ถึงกรณีที่มีคนแชร์ทริกในการ “ต้มไข่พร้อมกับหุงข้าว” เพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาประหยัดไฟ แต่ก็มีการถกเถียงกันว่า วิธีนี้จะได้รับเชื้อโรคอันตรายจากไข่หรือไม่ ?โดยตามรายงานข่าวระบุว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งออกมาแชร์ทริคที่ช่วยประหยัดเวลาและประหยัดไฟไปพร้อม ๆ กันในเพจ "กลุ่มงานบ้านที่รัก" โดยบอกว่า “บ้านย่าหุงพร้อมไข่แบบนี้ประจำ แต่เพิ่งนึกได้ เลยลองกับหม้อหุงข้าวของตัวเองครั้งแรก” ซึ่งไข่ดังกล่าวมีการล้างสะอาดด้วยน้ำยาออร์แกนิคเรียบร้อย
ซึ่งหลายคนก็ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนว่า สามารถทำได้ ช่วยประหยัดเวลาได้จริง แต่ต้องล้างไข่ให้สะอาด , “เปลือกไข่กับข้าวสาร ก็สกปรกปนเปื้อนพอกันแหละ ถ้าจะพูดตรง ๆ ก็ล้างมันทั้งคู่ ถ้าจะต้มรวมกันก็ไม่มีไรจะเสียละมั้ง เชื้อโรคแบคทีเรียตายหมดแล้วตอนต้ม” , “สมัยเด็ก ๆ ย่าก็ทำแบบนี้ค่ะ” ฯลฯ แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วย บอกว่า ถึงจะล้างสะอาดแค่ไหน แต่พอโดนความร้อน เชื้อโรคก็จะละลายออกมาจากเปลือก “ลูกชายบ้านนี้นอน รพ. เพราะเชื้อที่ออกมาจากเปลือกไข่ค่ะ” “ไม่แนะนำนะคะ เพราะที่เปลือกไข่จะมีสารอะไรสักอย่างที่เป็นอันตราย”, “ถึงจะโดนความร้อน แต่ก็ตกค้างได้ค่ะ” ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังเคยมีความเชื่อตั้งแต่โบราณว่า "การต้มไข่ในหม้อข้าว จะทำให้พระแม่โพสพ ไม่พอใจ ถือว่าเป็นการไม่เคารพข้าวจนทำให้เกิดเรื่องร้าย ๆ หรือโชคไม่ดีเข้ามาในชีวิต" ซึ่งอาจจะเป็นการเตือนทางอ้อมว่า ถ้านำไข่ไปต้มในหม้อหุงข้าว อาจจะทำให้เชื้อโรคจากเปลือกไข่ แพร่ลงไปในข้าว ทำให้เกิดอาหารท้องเสีย และโรคต่าง ๆ ตามมา รวมถึงอาจเป็นการเตือนถึงประเด็น ถ้าไข่แตกขณะต้มในหม้อข้าว ก็จะทำให้ข้าวบูดเร็ว
คำตอบคร่าวๆ คือ ความร้อนที่ทำให้น้ำในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเดือดจนข้าวสุกนั้น มากเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ติดมากับไข่ ดังเช่น เชื้อแซลโมเนลล่า ครับ ..... แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องของสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับเปลือกไข่ด้วย (ถ้าล้างออกไม่หมด) และก็ไม่ใช่วิธีการใช้งานตามปรกติของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า จึงไม่ได้แนะนำให้ทำตามนะครับ
- ไข่ไก่นั้น (และไข่สัตว์ปิกอื่นๆ ) จริงๆ แล้วแม่ไก่ออกไข่ผ่านมาทางทวารหนัก ที่เป็นช่องเปิดร่วมกับท่อนำไข่ จึงทำให้ไข่ไก่มีโอกาสเปื้อนกับมูลไก่ และอาจมีความเสี่ยงที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ดังเช่น เชื้อ แซลโมเนลลา Salmonella ได้ ทั้งในส่วนของผิวเปลือกไข่ที่เปื้อนมูลไก่ / หรืออาจจะติดมาตั้งในระหว่างที่สร้างฟองไข่ขึ้นในร่างกายของแม่ไก่ ทำให้เชื้อเข้าไปอยู่ในเนื้อไข่แดงไข่ขาวได้
- เชื้อ Salmonella เป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ตั้งแต่ขั้นเล็กน้อย ไปจนถึงขั้นรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ไข้ขึ้น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่รับเชื้อเข้าไป
- แต่เชื้อ Salmonella นั้นสามารถฆ่าให้ตายได้หมด ที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียส จึงเป็นข้อกำหนดสำคัญว่า ไม่ควรบริโภคไข่ดิบ (ถ้าไม่ได้มาจากฟาร์มเลี้ยงที่การันตีเรื่องการปลอดเชื้อโรค) และควรจะต้องทำให้สุก ด้วยอุณหภูมิสูง เป็นเวลานานเพียงพอ เช่น ทำให้ภายในไข่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วินาที ก็จะปลอดภัยจากเชื้อ Salmonella และเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่ได้
- หม้อหุงข้าวไฟฟ้านั้น จะสามารถทำความร้อนภายในหม้อให้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส หรือถึงจุดเดือดของน้ำได้ โดยจะให้ความร้อนสูงระดับนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำในหม้อเริ่มแห้ง และทำให้หม้อมีความร้อนที่เกินกว่า 100 องศา จึงจะทำการตัดการทำงาน เป็นมาเป็นการอุ่นข้าว ที่อุณหภูมิประมาณ 60-80 องศาเซลเซียสแทน ... จึงน่าที่จะเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่ติดมากับไข่ได้ ทั้งที่อยู่ที่เปลือกไข่และภายในเนื้อไข่
- ปรกติแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และผู้จำหน่ายไข่ จะไม่ล้างไข่ก่อนจะนำมาขาย เนื่องจากจะทำให้สารที่เคลือบผิวของไข่ตามธรรมชาติ ถูกทำลายลง ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปในไข่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ไข่เสียเร็วขึ้น จึงมักใช้วิธีการเช็ดทำความสะอาดแค่นั้น
- ดังนั้น ถ้าจะนำไข่ มาต้มพร้อมกับการหุงข้าว ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หรือหุงด้วยหม้อต้มน้ำตั้งไฟ ก็ควรเริ่มจากการเลือกใช้ไข่ใหม่ ที่เปลือกไข่สะอาด ไม่มีคราบสกปรก ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่ได้เก่าเก็บไว้นาน มาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เอาสิ่งสกปรกที่เปลือกไข่ออกให้หมด โดยระมัดระวังไม่ให้น้ำที่ล้าง (และอาจมีเชื้อจุลินทรีย์ปนอยู่) นั้นกระเด็นไปเปื้อนภาชนะหรืออาหารอื่นๆ ในครัว
- ใส่ข้าวสารและน้ำในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าตามสัดส่วนปรกติ วางไข่ลงไปบนข้าว และเพิ่มน้ำลงไปอีกประมาณครึ่งถ้วยเพื่อให้เพียงพอที่จะให้ความร้อนกับไข่ทั้งฟองได้ ทำการหุงตามปรกติ จนข้าวสุก สามารถนำมาบริโภคได้
- อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำแบบนี้ เนื่องจากหม้อหุงข้าวไฟฟ้าไม่ได้ถูกออกแบบผลิตมาให้ใช้ประกอบอาหารรวมกัน ระหว่างข้าวกับอาหารอื่นๆ จึงอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องการทำงานของเครื่องแต่ละรุ่น แต่ละสภาพเก่า-ใหม่ ที่จะให้ความร้อนสูงและนานเพียงพอหรือไม่ ที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมถึงสารพิษที่เชื้อโรคสร้างขึ้น ที่อาจทนความร้อนสูงได้ด้วย
ขอบคุณ เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์