อ.เจษฎ์ เผยความจริง อุดฟันด้วยอะมัลกัมปรอท อันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่

06 ตุลาคม 2566

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยความจริง อุดฟันด้วยอะมัลกัมปรอท อันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่ หลังมีกระแสเตือนให้รื้อที่อุดฟันสีเงินในโลกออนไลน์

กลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตถกสนั่นในโลกออนไลน์  เมื่อล่าสุดมีกระแสแจ้งเตือนว่าการอุดฟันสีเงิน ที่ทำจากอะมัลกัมปรอทออก มีสารปรอทที่เป็นอันตรายต่อร่างกายให้รื้อออก เกี่ยวกับประเด็นนี้ล่าสุด "ทีมข่าวไทยนิวส์ออนไลน์" ได้สอบถามไปยัง "อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" โดยอาจารย์เจษฎ์ได้อธิบายเรื่องราวดังกล่าวว่า 

อ.เจษฎ์ เผยความจริง อุดฟันด้วยอะมัลกัมปรอท อันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่

กับคำเตือนที่ว่า ที่อุดฟันสีเงิน เป็นสาเหตุหลักของความผิดปกติของสุขภาพ และโรคต่าง ๆ เช่น ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ เส้นโลหิตตีบ โรคอัลไซเมอร์ พิการแต่กำเนิด ซึมเศร้า เหนื่อยล้าเรื้อรัง ฯลฯ แม้ว่าจะเป็นวัสดุทางทันตกรรม ที่ราคาถูกที่สุด แต่มันเป็นอันตราย เนื่องจากมีสารปรอทอยู่ในเปอร์เซ็นต์สูง คือสูงถึง 54% และจะอยู่ในช่องปากเป็นเวลานานหลายปี ปรอทที่อยู่ในช่องปากจะปล่อยก๊าซพิษตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสาเหตุหลักของหลายโรคที่คุกคามชีวิตได้ !?

อ.เจษฎ์ เผยความจริง อุดฟันด้วยอะมัลกัมปรอท อันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่

ซึ่งนั่น ไม่เป็นความจริงนะครับ ! แม้ว่าสารปรอทบริสุทธิ์ จะเป็นโลหะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้จริง แต่ปรอทที่ถูกนำมาใช้ทางทันตกรรมนั้น ได้ถูกผสมกับโลหะอื่นๆ ได้แก่ สังกะสี เงิน ทองแดง เกิดเป็นวัสดุที่เรียกว่า อะมัลกัม (amalgam) ซึ่งมีความคงทนสูงและนำมาอุดฟันได้โดยไม่เป็นอันตราย

วัสดุอุดฟันแบบอมัลกัม (โลหะผสมปรอท) นี้ มีการใช้งานกันมานานร่วมร้อยปีแล้ว โดยไม่เคยพบว่าเป็นอันตรายร้ายแรงอะไร นอกเสียจากว่าเกิดอาการแพ้ได้ในบางคน (ซึ่งก็น้อยมากๆ)

และถ้าพบว่ามีความจำเป็น หรือเมื่อถึงเวลาที่อะมัลกัมเริ่มเสียหาย จึงค่อยรื้อออก แล้วเปลี่ยนไปใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น วัสดุเรซินคอมโพสิต (resin composite) แทน ... แต่ทันตแพทย์จะต้องทำการรื้ออะมัลกัมออกด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้คนไข้ได้รับสารปรอทเข้าไปในระหว่างที่รื้อ

ซึ่งเรื่องนี้ ทางทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เคยเผยแพร่ การศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการ เกี่ยวกับเรื่อง "ผลกระทบของการใช้อะมัลกัมที่มีต่อสุขภาพ" เช่น พบว่า "ปริมาณปรอทจากวัสดุอะมัลกัมที่ได้รับ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 2-5 μg ต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่ที่มีวัสดุอะมัลกัมเฉลี่ย 8 ซี่ และ 0.3 μg ต่อวัน สำหรับเด็กอายุ 12 ปี ซึ่งมีวัสดุอะมัลกัมเฉลี่ย 0.5 ซี่" ซึ่งนับเป็นปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปรอทที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวัน (มีค่าเฉลี่ย 15 μg ต่อวัน และปริมาณปรอทที่ร่างกายดูดซึมได้มีค่าเฉลี่ยต่อวัน 5.8 μg)

และสุดท้าย ทางทันตแพทยสมาคมฯ ได้ข้อสรุปว่า "การใช้วัสดุอะมัลกัมบูรณะฟันไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ต่อสุขภาพ หรือผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทางร่างกายต่อผู้ป่วย มีการพบการตอบสนองเฉพาะที่ (local adverse effects) ได้บ้างแต่ไม่มากนัก และสามารถจัดการรักษาได้โดยไม่ยุ่งยาก"

โดย มีรายละเอียดความรู้เกี่ยวกับการอุดฟันแบบอมัลกัม ของ รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์ ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยไว้ว่า 

(บทความ) "อุดฟันด้วย “อมัลกัม” อันตราย....จริงหรือ?"

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการอุดฟันด้วยวัสดุ อมัลกัม หรือวัสดุสีเงินที่ทันตแพทย์ เลือกใช้ให้กับผู้ป่วย เชื่อมโยงว่าอมัลกัม ทำให้เกิดโรคทางระบบหลายชนิด ได้แก่ การแพ้ ความจำสั้น ปวดหัว อ่อนเพลีย ทำให้กระวนกระวาย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมไปถึง โรค Multiple sclerosis

ทำให้ผู้ป่วยหลายคน ขอให้ทันตแพทย์ รื้อวัสดุสีเงินเหล่านี้ ออกจากช่องปาก และมีรายงานมากมาย (ที่ไม่ใช่การทดลองที่ได้มาตราฐาน) ที่หาได้จากโลกอินเตอร์เน็ต ว่าหลังจากรื้อวัสดุสีเงินเหล่านี้ไปตนเองมีความแข็งแรงมากขึ้น และตรวจเลือดพบว่า ร่างกายมีโลหะหนักในเลือดน้อยลง

ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นในประเทศยุโรปและอเมริกา จนกระทั่ง ทำให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ต้องทำวิจัยอย่างมากมาย เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ประชาชน มีความตื่นตระหนกอย่างมาก ว่าวัสดุสีเงิน จะมีส่วนทำให้ร่างกายของตน อ่อนแอ จนกระทั่ง เกิดปัญหาทางระบบมากมายข้างต้น

#วัสดุอมัลกัมหรือวัสดุสีเงินที่ทันตแพทย์ใช้คืออะไร

วัสดุอมัลกัม ประกอบไปด้วย โลหะผสม ได่แก่ เงิน ตะกั่ว ดีบุก สังกะสี พลาเลเดียม ซึ่งผสมเข้ากับปรอท (mercury) ทำให้เกิด วัสดุอุดที่นิ่ม ทันตแพทย์สามารถ นำวัสดุอุดนี้ ใส่ในโพรงฟัน และกดอัดจนเข้ารูป

วัสดุอุดจะแข็งตัวภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถบดเคี้ยวฟันได้อย่างดี วัสดุอุดอมัลกัมนี้ มีความคงทนสูง ราคาค่ารักษาไม่แพง อายุการใช้งาน ยาวนาน จัดว่าเป็นวัสดุอุดที่ราคาถูก แต่ให้ผลดีในการรักษา

ดังนั้น ในอดีตอมัลกัม จึงเป็นวัสดุที่ทันตแพทย์นิยมใช้บูรณะฟันอย่างมากเกือบทุกคลินิก

#ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้กล่าวว่า ปรอทในอมัลกัมจะสามารถเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดโรคทางระบบต่างๆ ตั้งแต่น้อยไปจนกระทั่งรุนแรง

ในปี ค.ศ. 1990 ได้มีรายการทีวีชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานเกี่ยวกับพิษของอมัลกัม จนสร้างความกังวลอย่างมากต่อสาธารณะชน โดยปรอทในอมัลกัมก็เป็นตัวร้าย ที่ในรายการนี้ระบุว่าสร้างปัญหาต่างๆ ต่อร่างกาย

แม้ว่าข้อมูลต่างๆ ในรายการนี้ จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีหลักฐานไม่เพียงพอ ที่จะนำมาสรุปว่าเกี่ยวข้องกับอมัลกัมก็ตาม ประชาชนก็ยังเกิดความตื่นตระหนก และเข้ารื้ออมัลกัมในช่องปากตนเอง จวบจนถึงปัจจุบัน ปรอทในอมัลกัมจึงขึ้นหิ้งเป็นตัวร้ายไปตั้งแต่นั้นมา

#รื้ออมัลกัมแล้วสุขภาพดีขึ้นจริงหรือ

แต่ FDI World Dental Federation และสมาคมทันตแพทย์ระดับโลกต่างๆ ได้วิจัย รวมถึงวิเคราะห์งานวิจัยที่น่าเชื่อถือมากมาย ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ปรอทในอมัลกัมจะก่อให้เกิดปัญหาใดๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลในประเทศแถบยุโรป ยังทุ่มงบประมาณทำงานวิจัย เพื่อดูว่า ผู้ป่วยที่มีการกำจัดวัสดุสีเงินออกจากช่องปากแล้ว จะมีความแข็งแรง หรือมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ลดลงไหม? ผลก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงว่า การกำจัดวัสดุสีเงินจากช่องปากนี้จะมีผลให้สุขภาพดีขึ้น

#การปนเปื้อนสารปรอทส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากอมัลกัม

ในปัจจุบันนี้ มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ปรอทในโลก หลังจากที่เมืองมินามาตะ ในประเทศญี่ปุ่น มีประชากรเกิดโรคจากการรั่วไหลของปรอทในโรงงานอุตสาหกรรม จนทำให้ประชากร มีโรคต่างๆมากมายจากการได้รับปรอทจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย

จึงเกิด Minamata convention on Mercury สร้างข้อตกลงการเลิกใช้ปรอทในสิ่งต่าง ๆ เพื่อลดการปนเปื้อนของสารปรอทต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศนอร์เวย์และสวีเดน ก็งดการนำเข้าสินค้าหลายชนิดที่มีสารปรอท ได้แก่ หลอดไฟ แบตเตอรีรถชนิดที่มีสารปรอท อุปกรณ์วัดต่างๆ ทางการแพทย์ เครื่องสำอางค์บางอย่าง เป็นต้น

ทั้งนี้ ปรอทที่สามารถปนเปื้อนลงสู่ระบบน้ำและอากาศของโลก จะสามารถเข้าสู่สัตว์ และปนเปื้อนในอากาศที่มนุษย์หายใจเข้าไป รูปแบบของปรอทในสิ่งต่างๆเหล่านี้ สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้ง่ายกว่าปรอทในอมัลกัม และมักปนเปื้อนในอาหารทะเล หรือในอากาศที่หายใจเข้าไป

แม้ว่าจะไม่สามารถหางานวิจัยที่ดีพอ ในการระบุว่าอมัลกัมเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบต่างๆก็ตาม ปรอทในอมัลกัมก็ได้รับการโจมตีอย่างมากจากสาธารณะว่า จะส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทำให้หลายๆประเทศ เริ่มยกเลิกการใช้อมัลกัมในการอุดฟัน

องค์การอนามัยโลกได้มีข้อตกลงให้ค่อยๆ เลิกใช้อมัลกัมในการอุดฟัน (ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเรื่อง "การลดความปนเปื้อนของสารปรอท ในสิ่งแวดล้อม") โดยค่อยๆ ปรับลดการผลิตลง ในอนาคตข้างหน้า ทันตแพทย์ก็จะหาอมัลกัมมาใช้ในการอุดฟันได้ยากขึ้น

หากเรากลัวการปนเปื้อนปรอท เราควรระมัดระวังการทานอาหารทะเลและระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจจะปนเปื้อนสารปรอทด้วย เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้จะมีผลต่อการสะสมของสารปรอทในร่างกาย มากกว่าปรอทในอมัลกัมเป็นอย่างมาก

#ถ้าไม่อุดฟันสีเงินทันตแพทย์จะใช้อะไร

อมัลกัมมีข้อดีคือ ทันตแพทย์อุดได้ง่าย ราคาค่ารักษาถูก ทนทาน และอายุการใช้งานยาวนาน แม้รูโพรงฟันที่อุดจะใหญ่ ก็สามารถอุดฟันด้วยอมัลกัมได้ นอกเสียแต่ว่า เนื้อฟันจะสูญเสียไปมากจนไม่มีเนื้อฟันที่สามารถยึดอมัลกัมในช่องปากได้

เมื่อผู้ป่วยปฏิเสธอมัลกัม ทันตแพทย์จะสามารถบูรณะฟันด้วยวัสดุชนิดอื่นได้แก่ วัสดุสีขาว "เรซินคอมโพสิต" ซึ่งเหมาะกับโพรงฟันระดับกลางหรือระดับเล็ก แต่ทันตแพทย์จะต้องใช้เวลาในการบูรณะมากขึ้น อัตราค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

หากโพรงฟันมีขนาดใหญ่ขึ้น ทันตแพทย์ก็สามารถเลือกบูรณะฟันด้วยเซรามิก หรือโลหะผสมต่างๆ เช่นทอง ทองคำขาว หรือพลาเลเดียม อัตราค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้นอย่างมาก

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีปัญหาค่าใช้จ่าย การเลือกใช้วัสดุอื่นๆ ก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย วัสดุอมัลกัมก็จัดว่ามีราคาค่ารักษาที่ถูกและทนทาน

มีข้อระมัดระวังจากสมาคมทันตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ให้ระมัดระวังการใช้อมัลกัมในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และในผู้หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร เท่านั้น

ทันตแพทย์จะต้องจัดการกับปริมาณปรอทในคลินิกทันตกรรม โดยจำกัดปริมาณในการผสมกับผงโลหะให้เหมาะสมในขณะขึ้นรูปอมัลกัม และการกำจัดอมัลกัมทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม อาจมีปริมาณปรอทที่มาก อาจเข้าสู่ร่างกายทันตแพทย์หรือผู้ช่วยได้ จึงควรมีการจัดการในคลินิกทันตกรรมอย่างดี

#ถ้าเรามีวัสดุอุดสีเงินเราควรจะไปรื้ออมัลกัมไหม

อมัลกัมนั้น นิยมใช้กันอย่างมากในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ว่า เราจะมีฟันที่อุดอมัลกัมสักซี่ในช่องปาก เมื่อมีข้อพิพาทข้างต้น จึงมักมีคำถามว่า ถ้าเรามีวัสดุอุดสีเงิน เราควรจะไปรื้ออมัลกัมไหม

ในการทำงานของผมนั้น หากผู้ป่วยเข้ามาขอรื้ออมัลกัม ผมจะให้ข้อมูลต่างๆ กับคนไข้ หากเขาทำแล้วสบายใจขึ้น ผมก็จะรื้อให้ และอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

โดยในการรื้อนั้น ผมจะทำการป้องกันอมัลกัมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ด้วยแผ่นยางกันนำ้ลาย ป้องกันจมูกผู้ป่วยไม่ให้หายใจก๊าซปนเปื้อนเข้าไป และใช้เครื่องดูดนำ้ลายกำลังสูง ดูดเอาผงออกไปจากบริเวณฟันอย่างรวดเร็ว โดยในแต่ละครั้งจะทำการรื้อไม่เกิน 2 ซี่ (ตาม Protocol ของแพทย์ Holistic)

ในกรณีที่ผู้ป่วยแข็งแรงดีนั้น และได้รับการอธิบายข้างต้น แม้จะมีวัสดุอุดสีเงินมา ผมก็ไม่โน้มน้าวให้ไปเปลี่ยนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ผมก็ไม่ได้ใช้วัสดุอมัลกัมกับผู้ป่วยผมแล้ว ด้วยเพราะเหตุผลด้าน "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดมลภาวะโลก" มากกว่า

แม้ว่าปัจจุบันนี้ จะมีงานวิจัยมากมายและมีข้อสรุปแล้วว่า อมัลกัม ไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางระบบต่างๆ แต่ข้อพิพาทนี้ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนความเชื่อของประชาชนทั่วไปไม่ได้

ยิ่งมีการพูดต่อๆ กันว่า รื้ออมัลกัมแล้ว ค่าโลหะในเลือดลดลง ร่างกายแข็งแรงขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนหลายๆคนเชื่อ และไปเข้ารับการรื้ออมัลกัมกันอย่างมากมาย

อย่างไรก็ดี อมัลกัมคงมีการใช้น้อยลงในวิชาชีพทันตกรรม เนื่องด้วยการผลิตที่ลดลง ข้อพิพาทนี้ก็คงจบลง ปรอทในอมัลกัมก็คงถูกกล่าวอ้างว่าเป็นตัวร้ายตลอดไป แม้ว่ามันจะมีรายงานว่าเป็นวัสดุราคาถูก และอายุการใช้งานสูงเทียบเท่าทองก็ตาม

อ.เจษฎ์ เผยความจริง อุดฟันด้วยอะมัลกัมปรอท อันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่

ขอบคุณ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์