อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
ในระยะเริ่มแรกมีความคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรวมถึงเป็นไข้ ปวดหัวและรู้สึกไม่สบายตัวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และอาจรู้สึกแสบร้อนคันบริเวณที่ถูกกัด อาการเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่ระยะที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกถึงการทำงานของสมองที่ผิดปกติ กระวนกระวาย สับสนและหงุดหงิด
ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน มีพฤติกรรมที่แปลกไป ประสาทหลอนและนอนไม่หลับ หากผู้ป่วยปรากฎอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมากและแพทย์มักใช้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง
หากถูกสัตว์จรจัดกัด
ให้ทำความสะอาดบาดแผลทันทีด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด แพทย์ที่มีประสบการณ์จะบอกได้ว่าผู้ที่ถูกกัดจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกว่ายาป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ (post-exposure prophylaxis; PEP) หรือไม่ โดยวินิจฉัยจาก
1. สัตว์ที่กัดมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
2. แผลมีความรุนแรงมากพอต่อการได้รับวัคซีน
3. การรักษาจำเป็นต้องใช้อิมมูโนโกลบูลิน (ซึ่งหายากในบางครั้ง) ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ (ในกรณีส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาทั้งสองประเภทร่วมกันเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค)
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
การไม่ถูกสัตว์กัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ไม่รู้จัก นอกจากนี้ยังสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาล
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามี 2 วัตถุประสงค์
1. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (ยังไม่ได้สัมผัสสัตว์หรือถูกสัตว์กัด)
แนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ หรือผู้ที่จะเดินทางในพื้นที่ที่พบโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวนทั้งหมด 3 เข็ม
2. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด
ควรล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังถูกสัตว์กัดและรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการฉีดวัคซีน
ขอบคุณ : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์