นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวถึง โรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดินว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เชื้อเชื้อแบคทีเรียมาสารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งหมด 3 ทาง ได้แก่
1.การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน
2.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 ตุลาคม 2566 มีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ 3,086 ราย มีผู้เสียชีวิต 58 ราย ส่วนใหญ่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ
4 จังหวัด ที่พบป่วยโรคไข้ดินเกือบ 600 ราย ได้แก่
อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ
1.เกษตรกร
2.รับจ้าง
3.เด็ก
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง หากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขอบคุณ กรมควบคุมโรค