เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 66 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ระบุว่า [หรือว่า digital wallet จะถึงทางตัน...?]
ธ.ออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับ ดิจิทัล วอลเล็ท 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว
ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้
ตามมาตรา 7 ของพรบ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่น ต้องตราเป็นพรฎ.
ซึ่งเมื่อไปดูในพรฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ค่ะ
ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัล วอลเล็ทก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ
สมัยประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็เคยออกคำสั่งคสช. แก้พรบ.กสทช. ว่าด้วยวัตถุประสงค์ กองทุนวิจัยและพัฒนา ของกสทช. ให้เพิ่มว่ากองทุนสามารถให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังก็มากู้ไปจริงๆ 14,300 ล้านบาท (ที่ตลกก็คือ มีการออกคำสั่งคสช.อีกฉบับเพื่อแก้พรบ.กลับไปเป็นเหมือนเดิม พร้อมยกหนี้หมื่นล้านนี้ให้กระทรวงการคลังด้วย)
เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐสามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่
**ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง**
เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณ กับออกพรก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิด
Update ข้อมูลงบ 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ตามภาพที่ 2 ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย
งบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้าน ก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบลงทุน โครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน soft power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทนอสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม
หรือ... จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ
ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็นพรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรธน.
น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ