วันที่ 27 ต.ค.66 คืบหน้าคดี ผอ.กองศึกษา อบจ.ยโสธร นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตน และใช้รถหลวงไปตีกอล์ฟ ล่าสุด นายอดุลย์ วันดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธร เปิดเผยถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด เรื่องกล่าวหา นายรุ่งรัก ลูกบัว ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร กับพวก กรณี นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ในการเดินทางไป - กลับ ระหว่างบ้านและที่ทำงาน และนำรถยนต์ของทางราชการไปตีกอล์ฟ
ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งมติและสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้อง นายรุ่งรัก กับพวก เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้อ่านคำพิพากษาจำเลย ได้แก่ นายรุ่งรัก ลูกบัว จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ระดับ 8) นายสถิรพร นาคสุข จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และ นายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร รักษาราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร
โดยพฤติการณ์ของจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อจำเลยที่ 2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อ จำเลยที่ 3 รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร รักษาราชการแทน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร
เพื่อขออนุญาตนำรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กค 7127 ยโสธร ไปจอดเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนเอง บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 3 ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร และได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทางไป – กลับ ระหว่างบ้านพักและองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร โดยไม่เคยนำรถยนต์มาจอดเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าว ไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟกรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอารถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เป็นการกระทำที่ร้ายแรง ในส่วนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3
ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ แต่ไม่ได้รู้เห็นการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวแต่อย่างใด จึงไม่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่การไม่ดูแลตามหน้าที่ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเลยทั้ง 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 จึงพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 นายรุ่งรัก ลูกบัว มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 /1 รวม 21 กระทง โดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 105 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 52 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
ขณะที่จำเลยที่ 2 นายสถิรพร นาคสุข และ จำเลยที่ 3 นายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123 /1 ให้ลงโทษรวม 12 กระทง จำคุก 12 ปี และปรับ 240,000 บาท และจำเลยที่ 3 รวม 16 กระทง จำคุก 16 ปี และปรับ 320,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดให้กึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่า เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และไม่เคยใช้รถยนต์คันดังกล่าว เห็นควรรอลงอาญา คนละ 2 ปี และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 4 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมประพฤติ และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลาคนละ 36 ชั่วโมง พร้อมชำระค่าปรับ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จำเลยมีสิทธิ์ต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ยโสธร ได้กล่าวในตอนท้ายว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนสำคัญสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการประจำ และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดยโสธร ที่จะต้องสอดส่องดูแลการใช้รถยนต์ราชการของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายและใช้ในราชการเท่านั้น หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นการขัดกัน