กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.ธนศักดิ์ สว่างศรี รอง ผกก.1 บก.ป. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.เดชวุฒิ อุตรศาสตร์ สว.กก.1 บก.ป., ร.ต.อ.มณเฑียร ธงเทียน รอง สว.กก.1 บก.ป., ร.ต.อ.ชวรินทร์ แหล่งสท้าน รอง สว.(สอบสวน) กก.1 บก.ป., และ จ.ส.ต.นพพล พุแค ผบ.หมู่ กก.1 บก.ป. ร่วมกันจับกุม น.ส.อุบลรัตน์ฯ หรือ แพร อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 3794/2566 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น” สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านของผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ ก่อนเกิดเหตุ บิดาของผู้เสียหาย อายุ 81 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทางครอบครัวของผู้เสียหายจึงได้จ้างบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการจัดส่งคนมาดูแลคนป่วย จัดส่งคนมาดูแล โดยช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2566 ทางบริษัทดังกล่าวได้ส่ง น.ส.อุบลรัตน์ฯ หรือ แพร ผู้ต้องหาในคดีนี้มาดูแลบิดาผู้เสียหาย และพักอาศัยอยู่ที่บ้านของผู้เสียหายที่เกิดเหตุ
จนกระทั่งเมื่อประมาณวันที่ 19 ตุลาคม 2566 น้องสาวของผู้เสียหายได้นำบัตรเอทีเอ็มของบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของบิดาผู้เสียหายไปกดเงินสด จำนวน 1,700 บาท เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่าย แต่ปรากฎว่าไม่สามารถถอนเงินได้เนื่องจากมีเงินในบัญชีไม่พอ ทั้งที่ความจริงแล้วเงินในบัญชีเงินฝากมีอยู่ถึงประมาณ 700,000 บาท ทางผู้เสียหายจึงได้แจ้งเรื่องไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอตรวจสอบ จึงทราบว่าระหว่างเดือนกันยายน 2566 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ได้มีรายการเดินบัญชีถอนเงินออกจากบัญชีโดยที่ทางฝ่ายผู้เสียหายและบุคคลในบ้านไม่ได้เป็นผู้ทำการถอนเงิน จึงเชื่อว่าจะต้องมีคนร้ายทำการนำบัตรเอทีเอ็มของบิดาผู้เสียหายไปทำการถอนเงิน ทางผู้เสียหายจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง พร้อมทั้งประสานงาน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ให้ช่วยติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี
ต่อมา กก.1 บก.ป. ได้ทำการสืบสวนทราบว่า ในการกระทำผิดผู้ต้องหาได้ลักเอาบัตรเอทีเอ็มของบิดาผู้เสียหายไปกดถอนเงินและโอนเงินไปยังบัญชีอื่น โดยไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขารัชดาภิเษก ห้วยขวาง, สาขา เทียมร่วมมิตร ต่อเนื่องต่างกรรมต่างวาระ เกิดมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนบาท ซึ่งในการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มนั้น มีภาพจากล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพของผู้ต้องหาในขณะก่อเหตุไว้ได้ เชื่อว่าคนร้ายที่ก่อเหตุคือ น.ส.อุบลรัตน์ฯ จริง จึงสรุปรายงานการสืบสวนมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ประกอบสำนวนการสอบสวนในคดีนี้ต่อไป จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา
ภายหลังจากศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. นำโดย พ.ต.ต.เดชวุฒิ อุตรศาสตร์ สว.กก.1 บก.ป. พร้อมพวก ได้นำหมายจับศาลอาญาที่ 3794/2566 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เข้าทำการจับกุม น.ส.อุบลรัตน์ฯ ที่บ้านของผู้เสียหาย และนำตัวผู้ต้องหามาทำบันทึกการจับกุมที่ กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ก่อนจะนำส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายสอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพว่า ตนอยากมีเงินใช้เยอะๆ ประกอบกับตนเคยเล่นพนันออนไลน์แล้วได้ผลตอบแทนดี โดยขณะที่ตนดูแลบิดาผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้สูงอายุป่วยติดเตียงนั้น
ตนได้ทราบรหัสผ่านบัญชีธนาคารของบิดาผู้เสียหาย จึงได้กดเงินสดจากบัญชีของบิดาผู้เสียหายเพื่อนำไปเล่นพนันออนไลน์ ต่อมาตนเล่นพนันเสียอย่างต่อเนื่อง จึงได้ลักลอบเข้าแอปพลิเคชันธนาคารดังกล่าว แล้วทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเว็บพนัน เพื่อเล่นพนันออนไลน์ จนเงินในบัญชีธนาคารของบิดาผู้เสียหายหมด แต่สุดท้ายเงินที่ตนลักมาเล่นพนันออนไลน์หมดไป เนื่องจากเสียพนัน
เตือนภัย การดูแลญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ หากมีความจำเป็นต้องให้บุคคลภายนอกมาช่วยดูแล ลูกหลานต้องช่วยกันสอดส่อง อย่าไว้วางใจบุคคลภายนอก เนื่องจากคนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ ยิ่งอยู่ใกล้ชิดคนในครอบครัวมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องระวัง ไม่จดรหัสผ่านเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร ไว้ในที่ที่บุคคลอื่นสามารถมองเห็น หรือ เข้าถึงได้