จากกรณีที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก เมื่อคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา หลังพบแสงสีเขียวบนท้องฟ้าที่เขาพะเนินทุ่ง ต้อนรับนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ทำเอาหลายคนสงสัยว่าแสงสีเขียวคืออะไรกันแน่ ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญเฉลยแล้ว
โดยก่อนหน้าที่ ทางเพจเฟซบุ๊ก เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โพสต์รูปภาพแสงสีเขียวบนท้องฟ้าที่เขาพะเนินทุ่งที่ปรากฎออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงเปิดเขาพอดี ระบุ
"ปรากฏการ แสงสีเขียว แสงสีเขียวไม่รู้มาจากไหนแต่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเปิดท่องเที่ยวพะเนินทุ่งพอดีเลย แอดก็เพิ่งเคยเห็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก ท่านใดมีข้อมูลคอมเม้นบอกกันได้เลยครับ
#เขาพะเนินทุ่ง
#แก่งกระจานป่ามรดกโลก
วันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 66
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวล่าสุด อาจารย์อ๊อด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ถึงที่มาของแสงสีเขียวดังกล่าวนี้แล้วว่า
"ไฟไดหมึก ที่แก่งกระจาน สาเหตุที่ต้องใช้ไฟสีเขียวเพราะว่าช่วงความยาวคืน 495 ถึง 970 นาโนเมตรเป็นช่วงที่ปลาหมึกชอบและอีกอันนึงก็หลอกปลาหมึกว่ามีแพลงต้อนหรืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของมันมันก็จะเข้ามาใกล้เรือชาวประมงก็จัดการจับมันได้ง่าย
ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็จะเป็นฤดูไดหมึกเรือประมงฝั่งพม่าก็จะเยอะหน่อยครับบนภูเขาก็จะมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีเขียว"
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก นายวิมุติ วสะหลาย หัวหน้าฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยว่าแสงสีเขียวจากเรือไดหมึกนี้เคยสร้างความฮือฮาให้กับมนุษย์อวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนอกโลก แล้วว่าแสงสีเขียวที่เกิดขึ้นนี้คืออะไรถึงกับถ่ายภาพส่งไปวิเคราะห์ยังนาซามาแล้ว
ขอบคุณ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ,Weerachai Phutdhawong