สือบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยความคืบหน้าของลูกช้างป่าพลัดหลงในอุทยานแห่งชาติทับลาน พบกระดูกแตกต้องใช้การผ่าตัดรักษาเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่บาดเจ็บ ทั้งนี้ได้ทำการประเมินความเสี่ยงในการรักษาและติดตามอาการลูกช้างอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่า
กรณีลูกช้างป่าบาดเจ็บในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัต์ป่า และพันธุ์พืช ได้หารือร่วมกันกับทีมสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง และสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูก โดยมีความเห็นร่วมกันว่า "ควรใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกตามวิธีที่เหมาะสม"
โดยในช่วงระหว่างวันที่ 13-17 พ.ย. 66 นี้ ทีมสัตวแพทย์จะได้ทำการเตรียมสภาพร่างกายลูกช้างป่าให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนย้าย (การเดินทาง) และเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ได้วางแผนเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า ในวันที่ 16-17 พ.ย. 66 โดยจำเป็นจะต้องตรวจความพร้อมของสภาพร่างกายสัตว์เป็นหลัก ซึ่งได้ประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความยินดีและมีความพร้อมในการช่วยดำเนินการผ่าตัดรักษาตามวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงการดำเนินการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับลูกช้างป่าสำหรับการปรับสภาพก่อนทำการผ่าตัด และพักฟื้นชั่วคราวหลังทำการผ่าตัด
สำหรับวิธีการซ่อมแซมโดยการผ่าตัดกระดูกทุกวิธีนั้นจะต้องทำการวางยาสลบ และมีความเสี่ยงสูงต่อชีวิตลูกช้างป่า ทั้งก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด หลังผ่าตัด และผลที่ได้จากการผ่าตัดยังคงมีความเสี่ยงสูง โดยทีมสัตวแพทย์เห็นตรงกันว่า "ทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่จะทำการรักษาให้ดีที่สุดตามหลักวิชาการ"
และในขณะนี้สัตวแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยวิธีการพันซัพพอร์ตขา เพื่อช่วยทำการพยุงน้ำหนัก ลดอาการเจ็บปวด และทำการให้ยาลดปวดร่วมด้วย พบว่ามีอาการปวดลดลงและยังคงตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อมได้ปกติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทางเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเผยความคืบหน้าการรักษาลูกช้างพลัดหลง ระบุ #คืบหน้า...อาการและการดูแลลูกช้างป่าบาดเจ็บ อุทยานแห่งชาติทับลาน
วันที่ 13 พ.ย.66 ทีมสัตวแพทย์ รายงานอาการลูกช้างป่าบาดเจ็บว่า บริเวณสะดือที่ยังไม่ปิดสนิท เป็นโพรงแคบลง มีความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีหนองปริมาณเล็กน้อย ทำการล้างสะดือทุกวัน
ลูกช้างกินนมได้ปกติ การขับถ่ายอุจจาระ เป็นครีมเหลวสีเหลือง การขับถ่ายปัสสาวะมีสีเหลืองอ่อน พบความขุ่นเล็กน้อย ทีมสัตวแพทย์ ใช้วิธีการพันขาหลังข้างขวา เพื่อซัพพอร์ตน้ำหนักและกระดูกที่แตกหัก พบว่า สามารถเดินได้ดีขึ้น ยืนได้นานขึ้น อาการปวดลดลงแตกต่างจากวันอื่นๆแต่ทั้งนี้พยายามไม่ให้ลูกช้างป่าเดินมากเกินไปเนื่องจากอาจเกิดการบวมอักเสบเพิ่มเติมได้ สำหรับภายในช่องปาก ปกติ ไม่พบแผล
การรักษาทางยา ให้ยาลดปวด ลดอักเสบ ยาปฏิชีวนะ ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ยาทาภายนอกสำหรับลดปวด พ่นสเปรย์รักษาแผลภายนอก และให้แคลเซียม วิตามินซี และผงโปรไบโอติก สำหรับกระต่าย ยากินป้องกันท้องอืดสำหรับผสมนม การรักษาอื่นๆเพิ่มเติม ทีมสัตวแพทย์ทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) เพื่อทำการลดปวด ลดอักเสบ ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ตามโปรแกรมการรักษา
สัตวแพทย์ผู้ดูแล
สพ.ญ.พรรณราย ว่องวัฒนกิจ
นายสัตวแพทย์ชำนาญการ
สอส.สบอ.7 (นครราชสีมา)
สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์
นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ
สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง)
สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร
นายสัตวแพทย์ชำนาญการ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก
ขอบคุณ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช