นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานสัมมนา “POSTTODAY SMART CITY THAILAND 2024” หัวข้อ ผลักดันไทยสู่ SMART CITY ว่า สิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงดีอีมีนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศด้วย 3 เครื่องยนต์ “The Growth Engine of Thailand”ได้แก่
1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และ 3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีไม่มาก
ในเรื่องสมาร์ท ซิตี้ กระทรวงดีอีได้บรรจุเป็นแผนงานเป็นโครงการขนาดใหญ่อยู่ในเครื่องยนต์ที่ 1เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเมือง โดยมีการชี้วัด 7 ด้าน ได้แก่
1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
2) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
3) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
4) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
5) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
6) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
นายประเสริฐ กล่าวว่า 1 ใน 7 สมาร์ท ซิตี้ 7 ด้านที่กระทรวงดีอีและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ให้ความสำคัญ และเป็นหัวข้อบังคับ คือ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เพื่อสนับสนุนนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศ
สำหรับนโยบายหลักในการส่งเสริมในการนำเมืองสู่สมาร์ท ซิตี้ คือ ดีป้า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการพัฒนามาตรการดึงดูดด้วยการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนสำหรับนิติบุคคล 3 ปี สัดส่วน 50% และจะเพิ่มเป็น 100 % หากนักลงทุนในเมืองสมาร์ท ซิตี้ ซื้อสินค้าและบริการผ่านบัญชีบริการดิจิทัลจะได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 50 % เป็น 100 %
นายประเสริฐ กล่าวว่า แนวคิดสมาร์ท ซิตี้ แต่ละเมืองแตกต่างกัน เพราะสภาพแวดล้อมและปัญหาของแต่ละเมืองแตกต่างกัน ที่สำคัญต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง กทม. จุดเด่นต้องการเมืองอัจฉริยะเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปัญหาจราจร ใน จ.เชียงใหม่ ต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนต่างประเทศ เช่น ซานฟรานซิสโก เน้นการลดคาร์บอนฟรุตปริ้น มีการวางระบบขนส่งอัจฉริยะ รวมถึงในอัมสเตอร์ดัม ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นพื้นที่สีเขียว
ดังนั้น ชุมชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ บทบาทของกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมสำคัญ เรามีเทคโนโลยีทั้ง ไอโอที บิ๊กดาต้า เอไอ เพื่อวิเคราะห์ให้แม่นยำ วางแผนได้ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันภัยธรรมชาติ นอกจากนี้กระทรวงดีอียังมีการพูดถึงคาร์บอนเครดิต แพลตฟอร์ม เพื่อให้ภาครัฐได้รับการยอมรับ และผู้ประกอบการในประเทศได้รับการยอมรับ เพื่อสามารถไปแข่งขันในต่างประเทศได้ สุดท้าย เทคโนโลยีบลอกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เป้าสุดท้ายของสมาร์ท ซิตี้ ที่คาดหวังคือ ต้องมีการพัฒนาแบบยั่งยืนและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแค่ 5-10 ปีแล้วเลิก และต้องอยู่ติดตัวเมืองนั้นตลอดไป อย่าทำตามกระแส การเป็นสมาร์ทซิตี้ ต้องอยู่ในบริบทที่ประเทศไทยต้องได้รับประโยชน์
ที่สำคัญคือ การลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนในสมาร์ท ซิตี้ ต้องเป็น สมาร์ท ฟอร์ ออล ต้องได้รับบริการ และชีวิตสะดวกสบายเท่าเทียมกัน และต้องเน้นเรื่องชุมชน ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองที่เราต้องการเข้า.ไปอยู่ มีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดค่าใช้จ่าย ใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ใช่หรูหรา สามารถบริหารเวลาการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เราได้เห็นเมืองแห่งความสุข และมีรอยยิ้ม