ทางด้าน เฟซบุ๊กเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อัปเดตอาการ "น้องเดือน" ลูกช้างป่าทับลาน ผลตรวจห้องปฏิบัติการโรคเฮอร์ปีร์ไวรัสในช้าง (EEHV) ให้ผลเป็นลบ
โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 ทีมสัตวแพทย์ รายงานข้อมูลลูกช้างป่า ชื่อเดือน เพศผู้ วัยเด็ก พบเจอบริเวณท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ว่า ทีมสัตวแพทย์ สบอ.1 ร่วมกับ ทีมสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทีมสัตวแพทย์ สบอ.3 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และฐานปฏิบัติการป้องกันและรักษาป่า (วังมืด) ร่วมกันดูแลรักษาลูกช้างป่า
โดยลูกช้างป่ามีความอยากกินนมปกติ อุจจาระเหลวเป็นสีเหลืองออกเขียว จึงมีการลดปริมาณนมต่อมื้อ สลับกับให้เกลือแร่แบบกิน ปัสสาวะปกติ กิจวัตรประจำวันในการดูแลลูกช้าง มีการพาเดินเล่นช้าๆโดยยังอยู่บนอุปกรณ์ช่วยพยุงอยู่ตลอดเวลาโดยยกสองขาหลังที่เข้าเฝือกเหนือพื้นเล็กน้อย ขาหน้าไม่มีการดึงรั้งสามารถลงน้ำหนักได้เต็ม 2 ฝ่าเท้า ทำความสะอาดลดความชื้นของเฝือก
การเปลี่ยนถุงหุ้มเฝือกเพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช็คระดับรอกให้เหมาะสมทุกครั้งในการยืน พบอาการท้องอืดเป็นบางช่วง ทำการให้ยาฉีดลดปวดลดอักเสบ แคลเซียมสำหรับกิน ผงโปรไบโอติก และทำความสะอาดสะดือ ทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) ระบบการลดปวด ลดอักเสบ และระบบดูแลกระดูก ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตามโปรแกรมการรักษา ทีมสัตวแพทย์ยังตรวจพบจุดขาวบนลิ้นของลูกช้าง แต่อุณหภูมิร่างกายกลับมาปกติแล้ว ผลทางห้องปฏิบัติการโรคเฮอร์ปีร์ไวรัสในช้าง (EEHV) ให้ผลเป็นลบ
ทั้งนี้อาการโดยรวมยังคงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ จะมีการประเมินอาการวันต่อวัน
แพทย์ผู้รายงาน :
สพ.ญ.ชนัญญา กาญจนสาขา นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สอส.สบอ.1 (ปราจีนบุรี) ทำหน้าที่หน.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน
สพ.ญ.กิติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กจส. สอป.
สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง)
สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก