เปิดปฏิบัติการ ทลายแก๊งค้ารถหลุดจำนำ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.1 บก.ป., พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สิทธิพร มีอาษา รอง ผกก.3 บก.ป.
โดยร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาจำนวน 7 ราย
1. นายจูหลิน ฯ (บอย) อายุ 40 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันยักยอก หรือรับของโจร”
2. นายณัฐวัฒน์ ฯ (โอ) อายุ 44 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันยักยอก หรือรับของโจร”
3. นายศุภชัย ฯ (เก้า) อายุ 39 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันยักยอก หรือรับของโจร”
4. นายภูตะวัน อายุ 43 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันรับของโจร โดยได้กระทำเพื่อค้ากำไร”
5. นายนิธิพัฒน์ ฯ (ไวท์) อายุ 32 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันรับของโจร โดยได้กระทำเพื่อค้ากำไร”
6. น.ส.ปทิตา (แยม) อายุ 37 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันรับของโจร โดยได้กระทำเพื่อค้ากำไร”
7. น.ส.ภัทราภรณ์ ฯ (หญิง) อายุ 37 ปี ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ปลอม หรือใช้เอกสารราชการปลอม ,ครอบครองอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน และพา อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไปในหมู่บ้านในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่”
ต่อมาตำรวจ กก.1 บก.ป. จึงได้วางแผนล่อซื้อรถยนต์คันดังกล่าว กับเพจ “นางฟ้า รถหลุดจำนำ” นัดหมายสถานที่ส่งมอบรถกันที่บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงเวลานัดหมายส่งมอบรถ คนร้ายได้นำรถคันดังกล่าวมาให้สายลับตรวจดูก่อนทำการซื้อขาย กระทั่งแน่ใจว่าเป็นรถยนต์ของผู้เสียหายที่แจ้งหายไว้ จึงส่งสัญญาณ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงตัว และทำการจับกุมตัวกลุ่มคนร้าย พร้อมกับยึดรถคันดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด เจ้าของคดี เพื่อนำส่งคืนให้กับผู้เสียหาย
โดยขณะนั้นจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบอย, นายเก้า และนายโอ ในข้อหา ร่วมกันยักยอกทรัพย์หรือรับของโจรฯ แต่ไร้ร่องรอยของตัวนายภูตะวันฯ ผู้เช่ารถคันดังกล่าวมาจากผู้เสียหาย
จากการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ทำให้ทราบข้อมูลว่าเครือข่ายคนร้ายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์หลุดจำนำนั้น จะมีการส่งต่อลูกค้ากินหัวคิวกันหลายทอด โดยแต่ละทอดก็จะมีนายหน้าหักค่าคอมมิชชั่น มีลักษณะเป็นเครือข่ายใหญ่ที่เชื่อมโยงกันด้วยผลประโยชน์ทางการเงิน มีการแบ่งหน้าที่กันทำต่างกันไป เช่น นายทุนที่รับรถหลุดจำนำมาเพื่อปล่อยค้ากำไร, นายหน้าหาลูกค้า, คนทำเพจประกาศขายรถทางออนไลน์, คนหารถป้อนเข้าสู่ขบวนการ และช่างรับถอด GPS เป็นต้น
ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ป. สามารถสืบขยายผลไปยังคนร้ายผู้ร่วมก่อเหตุได้อีก 4 ราย คือ นายไวท์, นายโจ, นายตฤณ และนางสาวแยม ฯ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4ราย ในข้อหา“ร่วมกันรับของโจร โดยได้กระทำเพื่อค้ากำไร”และสืบสวนขยายผล รวมทั้งติดตามตัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
จนล่าสุด นำมาสู่การเปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายรถหลุดจำนำดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพิ่มเติม รวมถึงตัวนายภูตะวันฯ คนต้นเรื่อง และเป็นผู้เช่ารถคันของผู้เสียหายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการล่อซื้อติดตามคืนมาก่อนหน้านี้ จึงนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนของนายโจ หรือนายบรรจงฯนั้น เคยถูกจับกุม และตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขณะที่นายตฤณฯ อยู่ระหว่างการเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี พร้อมเตรียมขยายผลในเครือข่ายนี้ทั้งหมดต่อไป
ทั้งนี้ระหว่างการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ป. โดยเฉพาะคืนก่อนหน้าวันเปิดปฏิบัติการระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนายไวท์ หนึ่งในผู้ต้อง และยังเป็นนายทุนซื้อขายรถยนต์รายสำคัญ ในขบวนการนี้ เจ้าหน้าที่พบว่านายไวท์มีการปล่อยขายรถยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค สีเทา ให้กับลูกค้าหญิงรายหนึ่งที่นั่งเครื่องบินมาจากจังหวัดอุดรธานี หลังจากซื้อรถไปแล้วได้ขับขี่มุ่งหน้าไปทางพื้นที่ภาคอีสาน โดยผ่านเส้นทางดังนี้ ไปจ.นครราชสีมาไปยังจังหวัดขอนแก่น ต่อไปยังจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีโอกาสที่จะมุ่งหน้าข้ามแดนไปสู่ประเทศลาว
ทางกก.1 บก.ป. จึงประสานกับกก. 3 บก.ป. ซึ่งรับผิดชอบและมีความชำนาญในพื้นดังกล่าว ให้สะกดรอยติดตามรถคันดังกล่าวไป กระทั่งในเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป. เข้าตรวจสอบรถคันดังกล่าว ภายในร้านค้ายางรถยนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีนางสาวหญิง แสดงตัวเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว ผลการตรวจสอบพบว่ารถคันดังกล่าวใช้แผ่นป้ายทะเบียนปลอม และยังตรวจพบอาวุธปืนรีโวลเวอร์ จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนอีกหลายนัดด้วย จึงจับกุมตัวนางสาวหญิง พร้อมตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดร พื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย
ฝากประชาชนตรวจสอบให้ดี ก่อนซื้อ “รถหลุดจํานํา-ราคาถูก” ถ้าไม่ตรวจสอบให้ดี เสี่ยงเสียเงินฟรี แถมอาจถูกดำเนินคดี ‼
- รถหลุดจํานํา ที่ถูกนำมาขายในราคาถูก ส่วนมากเป็นรถติดไฟแนนซ์ ที่ยังผ่อนไม่หมด กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถ ยังคงเป็นของไฟแนนซ์อยู่ดี
- การโอนลอย ไม่ถือเป็นการโอนย้ายกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ เพราะความจริงการโอนย้ายกรรมสิทธิ์ จะต้องไปทำเรื่องอย่างเป็นทางการที่กรมการขนส่ง
- รถที่ไม่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะไม่สามารถต่อ พ.ร.บ. หรือทำประกันได้
- ถ้าโดนไฟแนนซ์ตามรถเจอ ก็อาจจะโดนยึดรถ
- หากไฟแนนซ์ หรือ เจ้าของรถ ดำเนินคดีอาญากับผู้เช่าซื้อรายแรกในข้อหา “ยักยอก” หรือ
“ลักทรัพย์” เราก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันในข้อหา “รับของโจร” อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถจากใคร ไม่ว่าจะเป็นรถหลุดจำนำหรือไม่ก็ตาม
ควรศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ดูเอกสารให้เรียบร้อย เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ต.เดชวุฒิ อุตรศาสตร์ สว.กก.1 บก.ป.0943914940