"หมอธีระวัฒน์" เผยวิธีจัดการ "ความวิตกกังวล" สมาธิช่วยได้

30 พฤศจิกายน 2566

"หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการ "ความวิตกกังวล" สมาธิช่วยได้

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า วิตกกังวล สมาธิช่วยได้

หมอธีระวัฒน์ เผยวิธีจัดการ ความวิตกกังวล สมาธิช่วยได้

ความวิตกกังวล เป็นกลไก ตามธรรมชาติ ที่ทำให้คนเราต้องมีความรอบคอบในการทำงาน ทำกิจกรรมให้ไม่ผิดพลาด และผลงานออก มาสมบูรณ์ แต่ถ้ามีมากเกินไป จนเพี้ยนจะกลับกลายเป็นได้ผลลบในทางตรงข้าม และจนถึงขนาดที่ทำงานไม่ได้ จนต้องออกจากงาน ความวิตกกังวล มีได้ หลายรูปแบบ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง เมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างเข้ามากระทบ

โดยปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะวิตกกังวล จะเป็นคนที่มีบุคลิกบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเช่น อายผู้ อายคน รู้สึกไม่สะดวกใจจนกระทั่งถึงต้องหลีกหนีเมื่อพบคน หรือต้องเจอะเจอสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย และยิ่งประกอบกับเคยมีภาวะเครียดหรือ มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็กหรือแม้แต่วัยโตก็ตาม และถ้ามีคนในครอบครัวที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่รวมกระทั่งโรคทางกายที่ผิดปกติซึ่งรวมถึงโรคของต่อมไธรอยด์และโรคหัวใจเต้นผิดปกติ

ภาวะความผิดปกติ วิตกกังวล ออกมาได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่

  • โรควิตกกังวลโดยทั่วไป กังวลกับเรื่องทั้งหลายทั้งปวง เรื่องสุขภาพตนเอง เรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน ลื่นไหลไปแทบทุกเรื่อง จนกระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ และนอนไม่ได้หรือนอนไม่ดี
  • ภาวะแพนิค (Panic) ความรู้สึกกลัวกระทันหัน คาดการณ์ไม่ได้เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ เข้ามากระทบเกิดเหงื่อแตก ใจสั่น เจ็บหน้าอกรู้สึก เหมือนมีก้อนจุกคอ จนกระทั่งต้องไปห้องฉุกเฉิน กลัวหัวใจวาย
  • ภาวะตื่นกลัว โฟเบีย (phobia) มักเป็นกับบางสิ่งบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวงู จิ้งจกแมลงสาบ กลัวเลือด กลัวความสูง กลัวถูกฉีดยา
  • กลัวเวลามีปฏิสัมพันธ์ในสังคม จะกังวลว่าจะมีคนมานินทา หรือกลัวว่าตัวเอง จะทำขายหน้า เป็นที่ตลกขบขันเลยไม่ยอมเข้าสังคม ภาวะกลัวยังมีไปจนกระทั่งถึงกลัวที่แคบ ที่โล่ง อยู่ในกลุ่มคนหนาแน่น หรือแออัด รวมทั้ง ในรถโดยสารสาธารณะ และที่รุนแรงจนกระทั่งไม่ยอมออกจากบ้าน
  • นอกจากนั้นยังมีภาวะกังวลต่อการต้องพลัดพรากจากพ่อแม่จากคนที่รัก

วิตกกังวลเป็นได้ทุกอายุโดยเริ่มตั้งแต่เด็กวัยรุ่นขึ้นมา จนแก่ และทั้งโลกมีประมาณ 301 ล้านคนที่มีความแปรปรวนนี้ และภาวะลำไส้หงุดหงิด (irritable bowel syndrome) ท้องผูก ท้องเสีย สลับกันไปมา อาจมีส่วนเกี่ยวพันกับภาวะวิตกกังวลด้วย

เมื่อถูกกระทบกับภาวะจิตตก เช่นนี้และช่วยเหลือตนเองไม่ได้จำเป็นต้อง อาศัยการควบรวมปรึกษานักจิตวิทยาคลินิกโดยไม่ใช้ยา และหลีกเลี่ยงกาแฟ ในกรณีที่มีใจสั่นใจเต้นเร็ว จนกระทั่งถึงต้องใช้ นักจิตวิทยาบำบัด และใช้ ยาร่วมด้วยโดย แพทย์เฉพาะทาง

ยาที่ใช้เป็นตระกูล แอนตี้ คือแอนตี้ความวิตกกังวล (anti-anxiety) แอนตี้ความหดหู่ซึมเศร้า (anti-depressant) จนกระทั่ง ยาแอนตี้ความดัน บางกลุ่มที่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการใจสั่น ใจเต้นเร็ว และตัวสั่น มือสั่น

หมอธีระวัฒน์ เผยวิธีจัดการ ความวิตกกังวล สมาธิช่วยได้

การศึกษาของคณะทำงาน anxiety research program ที่ Georgetown university medical center วอชิงตันดีซี และรายงานในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA Psychiatry วันที่ 9 พฤศจิกายน 2022 จุดประสงค์ที่จะช่วยคนที่เจ็บป่วยที่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาทางจิตวิทยาบำบัด รวมกระทั่งถึงการที่ต้องใช้ยาโดยต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง จึงได้ทำการวิจัยถึงการทำสมาธิ ที่เรียกว่า mindfulness meditation การทำสมาธิเจริญสติให้จดจ่อ อยู่กับช่วงเวลาของปัจจุบันซึ่งต่างจาก พฤติกรรมบำบัด (cognitive behavioral psychotherapy)

กลุ่มเจริญสติจะมีการเข้าคลาสเป็นกลุ่มอาทิตย์ละ 2.5 ชั่วโมงและหนึ่งวันเต็มในวันสุดสัปดาห์นอกจากนั้นจะให้ฝึกทำเองที่บ้านวันละ 45 นาทีโดยเป็นการเรียนและฝึกฝน สมาธิเจริญสติให้จดจ่อกำหนดลมหายใจสำรวจร่างกายตนเองและสำรวจจิตที่มีการเคลื่อนไหว

เมื่อเสร็จสิ้นลงที่แปดอาทิตย์ พบว่าได้ผลเท่ากัน กับกลุ่มใช้ยา laxapro

ดังนั้นการเจริญสติสมาธิจดจ่อน่าจะเป็นวิธีการรักษาแบบแรกก่อนที่จะเริ่มใช้ยาด้วยซ้ำ

การเจริญสตินั้นเป็นการเรียนเพื่อที่จะรับรู้สภาพปรับตัวกับสถานการณ์โดยไม่รู้ตัวและจะไม่มีการตัดสินถูกผิดใดๆทั้งสิ้น ในความคิดของตนเองและเป็นการสอนตนเองให้ สามารถให้อภัยตนเองได้โดยไม่ต้องฝืนใจและไม่ต้องให้คนอื่นปลอบใจ แต่ทั้งนี้ การฝึกมีการฝึกเป็นกลุ่มซึ่งสามารถทำให้เรียนรู้ตนเองได้ง่ายขึ้น

การฝึกเจริญสติในลักษณะนี้ ไม่ถึงกับต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ therapist และสามารถทำได้ แม้กระทั่งในที่ทำงาน หรือเวลาไปฝึกโยคะ ใครๆ ก็สามารถเรียนและฝึกทำได้ และในที่สุด สามารถฝึกเจริญสติที่บ้านได้ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาทีต่อวันเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เกินคุ้ม เมื่อเทียบกับการใช้ยาซึ่งไม่ใช่เป็นการรักษาตรง แต่เป็นความพยายามที่จะปรับสารเคมีในสมองเพื่อบรรเทาอาการ และคงต้องใช้ยาหรือพึ่งยาไปตลอด

การเรียนรู้ลงทุนเพื่อช่วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยต้องการในขณะนี้และความเอื้อเฟื้อใส่ใจซึ่งกันและกัน