"ดีเอสไอ" พบขบวนการ "หมูเถื่อน" โอนเงินผ่านเอเย่นต์ เพื่อเลี่ยงภาษี

13 ธันวาคม 2566

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบหลักฐานว่ามีบริษัทชิปปิ้งใช้บริการโอนเงินนำเข้าหมูเถื่อนส่วนหนึ่งให้เอเย่นต์โดยไม่ผ่านธนาคารเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ยังคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องสำสำกรณี "หมูเถื่อน" โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ทางด้าน พันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคดีจับกุมขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน เปิดเผยความคืบหน้าในคดีว่า ในวันที่(13ธ.ค.66) กรรมการบริษัทห้องเย็น 2 แห่งในจังหวัดนครปฐมที่ได้เข้าตรวจค้นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเข้ามาให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่เวลา 10.00 น.  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และได้ออกหมายเรียกกรรมการบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่ง​  จำนวน  1  รายให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และอยู่ระหว่างเร่งขยายผลหมูเถื่อน 161 ตู้ที่ได้ตั้งเป็นคดีแล้วก่อนหน้านี้ 

 

ดีเอสไอ พบขบวนการ หมูเถื่อน โอนเงินผ่านเอเย่นต์เพื่อเลี่ยงภาษี

    ส่วนการเข้าตรวจค้นห้องเย็น 2 แห่งในจังหวัดนครปฐมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แห่งแรกพบเนื้อหมู 12 ตัน แห่งที่สองพบ 125 ตัน ซึ่งพบว่าใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไม่ถูกต้องจึงได้ยึดอายัดเพื่อตรวจสอบแล้วทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานว่ามีบริษัทชิปปิ้งใช้บริการโอนเงินนำเข้าหมูเถื่อนส่วนหนึ่งให้เอเย่นต์โดยไม่ผ่านธนาคารเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ดีเอสไอ พบขบวนการ หมูเถื่อน โอนเงินผ่านเอเย่นต์เพื่อเลี่ยงภาษี

 

เบื้องต้นพบ 3 บริษัทใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 282 ตู้ อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีเพิ่มเติม ขณะนี้ ดีเอสไอ อยู่ระหว่างพิจารณารับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายองค์กรอาชญากรรมส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร

 

 

 อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า มีนักการเมืองที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   และยังไม่มีกำหนดเรียกบุคคลใกล้ชิดนักการเมืองที่ปรากฏในคลิปเสียงเรียกเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเคลียร์ตู้หมูเถื่อนเข้ามาให้ข้อมูลตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด

ส่วนทางด้านนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย  โฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ปปง.ได้ยึดและอายัดทรัพย์สินในขบวนการดังกล่าวแล้วจำนวน 24 รายการรวมมูลค่า 53 ล้านบาท และได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินเพิ่มเติมก่อนอายัดเพิ่มอีก 28 รายการ พร้อมดอกผลอีก 37 ล้านบาท  

 

    ส่วนทรัพย์สินในขบวนการดังกล่าวที่อยู่ต่างประเทศนั้นหากสามารถพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินต่างประเทศส่วนใดที่มาจากการกระทำความผิด และศาลมีคำสั่งให้ยึดอายัด ทาง ปปง.จะดำเนินการประสานกับประเทศต้นทางเพื่อตรวจยึดอายัดทรัพย์ได้ แต่ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเนื่องจากเป็นความผิดระหว่างประเทศ