เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้บุกเข้าทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนสุดสกปรก ย่าน ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยโรงงานดังกล่าว ผลิตลูกชิ้นส่งขายมากถึงเดือนละ 3 ตัน โดยส่งขายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 10 แห่ง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจยึดของกลางได้มากกว่า 13 รายการ รวมมูลค่ากว่า 240,000 บาท
เนื่องจากเมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 ได้มีการรายงานข่าว เด็กจำนวน 6 คน ได้รับประทานไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อ แล้วมีอาหารคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว จนต้องนำตัวส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4บก.ปคบ. จึงมีมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ ได้มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ที่มีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคซื้อมารับประทาน แล้วอาจจะได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือเสียชีวิต จึงได้มีการสืบสวนหาแหล่งข่าว พบว่ามีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี โดยมีการลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งขายตามตลาดนัดในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตดังกล่าว
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักอาศัยหลังหนึ่ง ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
โดยมี นางสาวธันย์ดารินทร์ (สงวนนามสกุลจริง) ได้แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมกับมีการตรวจยึดของกลาง ดังนี้
ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 13 รายการ
ซึ่งโรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต ตวง และผสมส่วนผสม โดยไม่สวมหมวกคลุมศีรษะและถุงมือเพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด และยังพบอีกว่า โรงงานดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์สุขลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้ แต่กลับพบว่าได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมกับเศษของเนื้อหมูเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและซื้อไปบริโภคโดยไม่ทราบถึงส่วนผสมที่แท้จริง
นางสาวธันย์ดารินทร์ฯ รับสารภาพว่า ได้ทำการผลิตลูกชิ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) ซึ่งเศษเนื้อหมู และเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบได้มีการผสมสารฟอกขาว (titanium Dioxide) และ วัตถุกันเสีย (Sodium benzoate) ก่อนนำมาผลิตเป็นลูกชิ้นและส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดมากกว่า 10 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยกลุ่มลูกค้าที่รับลูกชิ้นไปจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มขายส่งวัตถุดิบสำหรับขายบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 200 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 3,000 กิโลกรัม
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” และมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ทางด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่า ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทาง ออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไป ยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต หรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที
หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา