วันนี้ (20 ธ.ค. 66) เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาคดีน้องชมพู่ หลังจากที่ นายอนามัย และ นางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อแม่ของน้องชมพู่ และอัยการจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล จำเลยที่ 1 และ นางสาวสมพร หลาบโพธิ์ หรือ ป้าแต๋น จำเลยที่ 2 ในฐานความผิด ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร
และทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปี ไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้น พ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้น ปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย และ กระทำการใดๆ แก่ศพ หรือ สภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรศพ หรือ ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 , 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
ด้าน ป้าแต๋น จำเลยที่ 2 มีความผิดในข้อหา ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรศพ หรือ ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
“ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพฯ นั้น เห็นว่าภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับจำเลยที่ 2 แต่การตรวจหา DNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่าเป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น เส้นผมดังกล่าวจึงไม่จำต้องเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้”