ติดตามกันมาอย่างยาวนาน สำรับมหากาพย์คดีน้องชมพู่ ที่ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 หรือกว่า 3 ปีที่แล้ว หลังน้องชมพู่ หายออกไปจากบ้าน ในหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ก่อนต่อมาจะไปพบร่างน้องชมพู่ อยู่บนภูเหล็กไฟ เขตอุทยานแห่งชาติภูผายล ห่างจากบ้านราว 2 กิโลเมตร จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง
ล่าสุดวันที่ 20 ธ.ค.66 ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษา คดีน้องชมพู่ ที่ทาง นายอนามัย วงศ์ศรีชา และ นางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อ-แม่ของน้องชมพู่ และอัยการจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง"ลุงพล"นายไชย์พล วิภา จำเลยที่ 1 "ป้าแต๋น" น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก"ลุงพล 20ปี" ส่วน ป้าแต๋น ศาลให้ยกฟ้อง ซึ่งล่าสุดมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ศาลมุกดาหารให้ประกันตัวลุงพลหลักทรัพย์ 5 แสนบาท
โดยในคดีน้องชมพู่ ลุงพล มีความผิด 2 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 , 317 วรรคแรก
1. ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก10ปี
2. ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน15 ปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก10ปี
นอกจากนี้ ยังให้จำเลยที่ 1 คือ ลุงพล ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
ในคดีน้องชมพู่นั้น หลักฐานสำคัญในการเอาผิด "ลุงพล" จากคำพิพากษาของศาลจังหวัดมุกดาหาร นั่นก็คือใจความว่า ประการสุดท้าย ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์ จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น
โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้าง ตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้น ดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน
เชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน
ล่าสุดหลังศาลจังหวัดมุกดาหารพิพากษา จำคุก ลุงพล 20 ปี คดีน้องชมพู่ ทางด้าน อุ๊บ วิริยะ นักปั้นมือทองคนดัง ซึ่งได้นั่งรถทัวร์ มาบ้านกกกอก เพื่อให้กำลังใจพ่อแม่ของน้องชมพู่ ซึ่งได้เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ค หลังจากศาลตัดสินจำคุกลุง 20 ปี ระบุว่า
"คดีดังกกกอกที่จบด้วยรอยยิ้มและน้ำตา.หลังจากรอคอยมา3ปีกว่า กฏแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ พี่อุ๊บ พ่ออนามัย แม่สาวิตตรี"
ที่มา วิริยะ พงษ์อาจหาญ