เตือนระวังปลอมใบหย่า มีราคาที่ต้องจ่าย
ใบสำคัญการหย่า ถือเป็นเอกสารที่นายทะเบียนออกให้ เพื่อแสดงว่าบุคคลทั้งสองฝ่าย ได้ยุติความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย รวมไปถึงการกำหนดสิทธิ หน้าที่ ที่ตามมาด้วย เช่น สิทธิการปกครองบุตร ภาระหนี้สิน ต่าง ๆ ด้วย
ซึ่งตามกฎหมายจะถือว่า “ใบสำคัญการหย่า” นั้นเป็น ”เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ”
ดังนั้นการปลอม “ใบสำคัญการหย่า” ไม่ว่าจะทำด้วยจุดประสงค์ใดก็ตามถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.266 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท
การจดทะเบียนหย่า
ชายหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วจะขาดจากการสมรสหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย 2) ได้จดทะเบียนการหย่าแล้ว และ 3) ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
การจดทะเบียนการหย่ากระทําได้ 2 วิธี
1) การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียนเดียวกัน และการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
2) การจดทะเบียนการหย่าโดยคําพิพากษาของศาล
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนการหย่า
- บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้องและพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
- ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
- หนังสือสัญญาการหย่า (กรณีหย่าโดยความยินยอม)
- คำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีหย่าตามคำสั่งศาล)
- สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลับมาใช้ชื่อสกุลของตนเองจากการใช้ชื่อสกุลของคู่หย่าเฉพาะสำนักทะเบียนที่ตนเองมีชื่อ หรือฝ่ายหญิงเปลี่ยนคำหน้านาม
- พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในการจดทะเบียนการหย่า