จากกรณีที่ "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ไขกระจ่าง ไมโครพลาสติกจำนวนมากในขวดน้ำดื่ม อันตรายหรือไม่ โดยระบุว่า
"พบไมโครพลาสติกจำนวนมากในขวดน้ำดื่ม แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพครับ"
ได้รับรีเควสต์หลังไมค์มาหลายท่าน ให้ช่วยเขียนอธิบายถึงข่าวนี้หน่อย เลยไปรวบรวมมาครับ จะได้ไม่แตกตื่นตกใจกังวลกันเกินไปเวลาดื่ม "น้ำดื่มบรรจุขวด"
ตามรายงานข่าว ระบุว่า มีผลงานวิจัยล่าสุด ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า ในน้ำดื่มบรรจุขวด ขนาด 1 ลิตร โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีไมโครพลาสติก (microplastic) ปนเปื้อนอยู่ เกือบ 240,000 ชิ้น ซึ่งมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิดไว้ถึง 100 เท่า หลังจากการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้เลเซอร์คู่
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สุ่มตรวจสอบตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไป จำนวน 5 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 3 ยี่ห้อ (ในสหรัฐอเมริกา) รวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง พบว่า มีอนุภาคไมโครพลาสติกระหว่าง 110,000-400,000 ชิ้นต่อลิตร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 240,000 ชิ้นต่อลิตร
ซึ่งประมาณ 90% เป็นไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ทำให้กังวลกันว่ามันจะสามารถผ่านเข้าไปในลำไส้ และปอด ตลอดจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือด ไปเกาะตามกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ เข้าสู่สมอง หรือแม้กระทั่งเข้าไปสู่ร่างกายของทารกภายในครรภ์ได้ !?
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (หรือ WHO) ได้เคยออกรายงานเกี่ยวกับ "ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวด" เมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยระบุว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบหลักฐานยืนยันถึง "ผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค" อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากที่สุดหลายชนิดสามารถจะถูกขับออกจากร่างกายมนุษย์ได้
โดยไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดหรืออวัยวะภายใน และชี้ว่าการดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีระดับปริมาณอนุภาคพลาสติกตามค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ... แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะเน้นย้ำว่ามาจากข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่จำกัด และยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกเกี่ยวกับผลกระทบของอนุภาคพลาสติกต่อสุขภาพมนุษย์
มาลองอ่านดูในรายละเอียดกันครับ
- ไมโครพลาสติก ได้กลายมาเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจและกังวลในปัจจุบันนี้ โดยไมโครพลาสติกเกิดจากการแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ของชิ้นพลาสติก หรือไปกับน้ำทิ้งของเครื่องซักผ้า แล้วซ่อนอยู่ในดิน ในแหล่งน้ำ และในสัตว์ป่าสัตว์ทะเล มีขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร (ครึ่งเซนติเมตร) ไปจนถึง 1 ไมโครเมตร และมีการตรวจพบในที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่บนยอดเขาเอฟเวอเรสต์ ไปจนถึงร่องน้ำที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร โดยที่ยังไม่เป็นที่ทราบชัดว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้างต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ
- การศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าในน้ำดื่มบรรจุขวด 1 ลิตร อาจจะมีเศษพลาสติกปนอยู่มากถึงหลายพันชิ้น (โดยเฉลี่ยแล้ว อยู่ที่ 325 ชิ้นไมโครพลาสติกต่อหนึ่งขวด) แต่ผลการศึกษาเหล่านี้ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ จะตรวจหาไมโครพลาสติกได้ถึงแค่ขนาด 1 ไมโครเมตรเท่านั้น ไม่สามารถหาขนาดเล็กกว่านี้ได้เพราะข้อจำกัดทางเทคนิค
- แต่งานวิจัยล่าสุด ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ในวารสารวิจัย Proceedings of the National Academy of Sciences ได้ใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์ที่พัฒนาใหม่ ที่ยิงแสงเลเซอร์ 2 ลำไปที่ตัวอย่างน้ำ และสังเกตการเกิดเรโซแนนซ์ (resonance) ของโมเลกุลที่แตกต่างกัน จากนั้นใช้วิธี machine learning ในการวิเคราะห์ ทำให้คณะผู้วิจัยสามารถระบุโมเลกุลของพลาสติก ได้ 7 ชนิดในตัวอย่างของน้ำดื่มบรรจุขวด 3 ยี่ห้อ
- วิธีการนี้ทำให้เป็นครั้งแรกที่สามารถค้นพบและระบุจำนวนชิ้นไมโครพลาสติกที่เล็กลงกว่าเดิมได้อย่างแม่นยำ และทำให้นับจำนวนของอนุภาคพลาสติกที่พบในขวดน้ำดื่ม ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 10 เท่า 100 เท่า โดยตรวจพบเศษพลาสติกถึง 2.4 แสนชิ้นโดยเฉลี่ย ในน้ำดื่ม 1 ลิตร
- ซึ่งในจำนวนเศษพลาสติกเหล่านี้ กว่า 90% ได้ถูกจัดให้อยู่ในระดับ นาโนพลาสติก (nanoplastic) ตามขนาดของพวกมันที่เล็กกว่า 1 ไมโครเมตร และ "นาโนพลาสติก" นี่เอง ที่ทำให้เริ่มมีความกังวลกันมากขึ้น เนื่องจากมันน่าจะสามารถผ่านลำไส้ (จากระบบทางเดินอาหาร) และปอด (จากระบบหายใจ) เข้าไปสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ไปอยู่ที่บริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ และผ่านบริเวณ blood-brain barrier เข้าสู่สมอง ตลอดจนเข้าสู่ร่างกายของทารถในครรภ์ ผ่านรก
- ในบรรดานาโนพลาสติกที่พบในขวดน้ำดื่มนั้น ชนิดที่พบมากที่สุดชนิดหนึ่ง ก็คือ โพลีเอทิลีน เทเรธาเลต (polyethylene terephthalate หรือ PET) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่นิยมที่สุดในการใช้ทำขวดบรรจุน้ำดื่ม คาดกันว่าพวกมันไปอยู่ในน้ำดื่มได้ระหว่างที่ขวดถูกบีบอัด หรือตอนที่ฝาเกลียวถูกหมุนปิดเปิด
- พลาสติกอีกชนิดที่พบในขวดน้ำดื่ม คือ ไนลอน (nylon) ซึ่งตาดว่าน่าจะมาจาก ตัวกรอง (ฟิลเตอร์) ที่ใช้ในการกรองน้ำให้บริสุทธิ์
- ถึงกระนั้น ก็ยังมีงานวิจัยอยู่น้อยมาก ที่แสดงให้เห็นว่า นาโนพลาสติกสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ และยังไม่มีหลักฐานว่านาโนพลาสติกเป็นอันตรายต่อสุขภาพ / และถึงมีนาโนพลาสติกอยู่ 90% ของเศษพลาสติกที่พบในขวด แต่เมื่อเมื่อคิดเป็นน้ำหนักแล้ว มันก็มีปริมาณน้อยมากๆ
- แต่ก็ยังมีความกังวลกันว่า นาโนพลาสติกอาจจะเป็น ตัวนำพา (carrier) สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น บิสฟีนอล (bisphenol) , ธาเลต (phthalate) , ไดออกซิน (dioxin) , สารอินทรีย์ปนเปื้อน (organic contaminant) , และโลหะหนัก ซึ่งจะเป็นอันตรายได้เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปเป็นปริมาณสูง จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และมีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ไต หัวใจ ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงสะสมต่อเนื่องไปในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ
- และถึงนาโนพลาสติก จะมีในขวดน้ำดื่มในปริมาณน้อยมาก แต่ด้วยความที่มันมีขนาดเล็กมาก ก็ย่อมจะเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น และน่าจะเป็นอันตรายได้มากกว่าไมโครพลาสติก
- อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดนานาชาติ ( the International Bottled Water Association ) ได้ให้ความเห็นว่า มันก็ไม่ได้มีทั้งวิธีการมาตรฐานในการตรวจ และไม่ได้มีความเห็นที่สอดคล้องต้องกันทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพ จากอนุภาคไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก ดังนั้น การที่สื่อรายงานเกี่ยวกับอนุภาคพลาสติกในน้ำดื่ม ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าการทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น
ขอบคุณ Jessada Denduangboripant