เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 "อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า "ฟ้าผ่า ทั้งที่ไม่มีฝนตก เกิดขึ้นได้เพราะอะไร?
วันก่อนนี้ มีข่าวแปลกๆ มีคนงาน 3 คน ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่ไม่มีฝนตก ขณะนั่งพักใต้ต้นขนุน และทำให้รถเสียหาย สตาร์ทไม่ติดไปอีก 2 คัน
คำถามคือ "ฝนไม่ตก แล้วฟ้าผ่าได้อย่างไร"? นึกว่าต้องมีฝนตกเท่านั้น ถึงจะมีฟ้าผ่าได้ หรือว่า เป็นเพราะกำลังเล่นมือถืออยู่หรือเปล่า ถึงได้ล่อฟ้ามา?
ซึ่งคำตอบก็คือ มันเกิดขึ้นได้ครับ ที่จะมีฟ้าผ่าทั้งที่ฝนไม่ตก แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบได้ยากหน่อย เรียกว่า "ฟ้าผ่าแบบบวก positive lightning" ครับ
ตามรายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. มีผู้บาดเจ็บถูกฟ้าผ่าจำนวน 3 ราย ที่ชุมชนห้วยยายพรม หมู่ 1 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่บริเวณต้นขนุน พบผู้บาดเจ็บนอนกองอยู่กับพื้นดิน 2 คนนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นแต่ยังสามารถให้การได้ อีกคนอยู่ในอาการหมดสติ หายใจอ่อนแรง ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล
เจ้าหน้าที่พบต้นขนุนสูงประมาณ 10 เมตร ถูกฟ้าผ่าหักโค่นลงมา และยังพบ รถ 2 คันได้รับความเสียหาย สตาร์ทไม่ติด เนื่องจากถูกกระแสไฟฟ้าช็อต
สอบถามชาวบ้าน บอกว่า ผู้บาดเจ็บทั้ง 3 รายได้มานั่งพักใต้ต้นขนุน นั่งเล่นโทรศัพท์พักผ่อนรอเวลาเลิกงาน จู่ๆได้ยินเสียงฟ้าผ่าแบบชนิดที่ไม่มีฝนตกลงมาเลย
ซึ่งถ้าประเมินตามข้อมูลนี้ ก็น่าจะเกิดฟ้าผ่าลงมาที่ต้นขนุน ซึ่งเป็นจุดที่สูงและโดดเด่น มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นตำแหน่งที่ถูกฟ้าผ่า และกระแสไฟก็กระโดดจากต้นไม้ เข้าสู่ทั้ง 3 คน ซึ่งโชคดีที่ได้รัยบาดเจ็บ แต่ยังไม่รุนแรงถึงขนาดเสียชีวิต (โดยที่โทรศัพท์มือถือนั้น ไม่ใช่ตัวล่อฟ้า อย่างที่บางคนเข้าใจผิดกันมา)
ประเด็นคือ แล้วเกิดฟ้าผ่าได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีรายงานว่ามีฝนตก ? ... สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ คือบังเอิญเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆที่อยู่ห่างจากบริเวณนั้น หรือที่เรียกว่า "ฟ้าผ่าแบบบวก" (ดูภาพประกอบ)
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้เคยอธิบายเรื่อง "ฟ้าผ่าแบบบวก positive lightning" ไว้ดังนี้คือ
"นอกจากฟ้าผ่าจากก้อนเมฆลงสู่พื้นจะเป็นอันตรายต่อคนมากที่สุดแล้ว ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น ยังถือเป็นภัยจากฟ้าผ่าอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอันตรายต่อคนได้ แต่ประชาชนกลับยังไม่ค่อยรู้จักนัก
ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นนั้น เป็นการปลดปล่อยประจุบวก (positive charge) ออกจากก้อนเมฆ (ฟ้าผ่าแบบบวก) สามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆถึง 30 กิโลเมตร
นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะจะดูปลอดโปร่ง แต่ก็อาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบบวก) ได้ หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไปราว 30 กิโลเมตร
โดยฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง คือ หลังจากฝนที่กระหน่ำเริ่มซาลงแล้ว
และแม้ว่าฟ้าผ่าแบบบวกจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก (น้อยกว่า 5% ของฟ้าผ่าทั้งหมด) แต่ก็ทรงพลังมากกว่าฟ้าผ่าแบบลบถึง 10 เท่า กล่าวคือ กระแสไฟฟ้าอาจสูงถึง 300,000 แอมแปร์ และความต่างศักย์ 1 พันล้านโวลต์เลยทีเดียว
อีกทั้งฟ้าผ่าแบบบวกยังอาจทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย หากในป่าบริเวณที่โดนฟ้าผ่าเกิดไฟลุกไหม้ลาม และไม่มีฝนตกลงมาดับไฟ
สำหรับคำแนะนำถึงวิธีการสังเกตการเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น มีกฎจำ ง่ายๆ ที่เรียกว่า กฎ 30/30 เป็นข้อปฏิบัติที่ทหารใช้กัน
โดยเลข 30 ตัวแรกมีหน่วยเป็นวินาที หมายถึงว่า หากเห็นฟ้าแลบ แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากเพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที (ตัวเลขนี้มาจากการที่เสียงเดินทางด้วยอัตราเร็วประมาณ 346 เมตร/วินาที ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส)
ส่วนเลข 30 ตัวหลังมีหน่วยเป็นนาที หมายถึงว่า หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (นั่นคือ ฝนหยุด และไม่มีเสียงฟ้าร้อง) คุณควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่า เมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง”
โดยสรุปคือ ถึงแม้จะไม่มีฝนตก แต่ถ้าข่วงนี้ช่วงไหน เริ่มมีข่าวพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ก็อย่าประมาทครับ ถึงไม่มีฝนตก หรือฝนหยุดตกไปแล้ว ก็อาจจะเกิดฟ้าผ่าได้ครับ !
ป.ล. พยากรณ์อากาศเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ก็บอกว่า "บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในคืนวันนี้ ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาไม่แข็งแรง // ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี"