วันที่ 21 ก.พ. 67 "หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า ประกาศให้ทราบทั่วกันนะครับ
เนื่องจากเรื่องของwhite clot กับวัคซีน เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างและโต้แย้งกันอย่างมาก ทั้งเอาหลักฐานที่จะดิสเครดิตตัวบุคคลรวมทั้งเจ้าของช่อง YouTube ว่าเป็น คนต่อต้านวัคซีน (รวมทั้งตัวหมอเองด้วย) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
และท่านก็เป็นอาจารย์ทางการพยาบาลแต่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทางการแพทย์และศาสตราจารย์ของประเทศอังกฤษมาอย่างยาวนานและในระบบ NHS
หมอจะเลิกพูดถึงเรื่องwhite clot นี้ เพราะได้ให้เรื่องราวตามนั้นแล้ว
แต่ยังให้ความสำคัญกับผลกระทบของวัคซีนที่มีผลต่อการเสียชีวิตความพิการที่เราดูแลอยู่โดยจุดประสงค์เพื่อการรักษาเยียวยาผู้ป่วยและครอบครัวและเพื่อให้วัคซีนที่เราต้องใช้นั้นมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดอย่างที่ต้องเป็นตามมาตรฐานครับ
บทความและข้อความที่เผยแพร่ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนป่วย
หมอไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ สามารถตรวจสอบได้ว่าไม่เคยรับเงินในการ promote หรือมีเอี่ยวกับสถาบันใด หรือผลิตภัณฑ์ใด
ในส่วนของการได้รับเงินจากโรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิทจากการให้คำแนะนำทางวิชาการเรื่องทางสมองและเงินจำนวน 200,000 บาทนั้น ให้ส่งให้มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์จุฬาเพื่อนำมาใช้ในงานวิจัยและบุคลากรที่ทำงานวิจัยโดยมีหลักฐานชัดเจน
ขอบพระคุณทุกท่าน เป็นอย่างสูงครับ
ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า การพบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของศพมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่
ปรับปรุง 21 ก.พ. 2567 เวลา 16:41
มีวิดีโอยูทูปที่ชื่อ "เสียชีวิตกะทันหัน 2022 (died suddenly 2022) " เผยแพร่สะพัดบนโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2565 หรือ 2 ปีที่แล้ว โดยอ้างว่าพบลิ่มเลือดหลังการชันสูตรศพเป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นว่าฝ่ายหนึ่งมีแผนลดจำนวนประชากรโลกโดยใช้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้
วิดีโอดังกล่าวนำเสนอว่ามีผู้ฉีดยารักษาศพและผู้อำนวยการงานศพจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่าพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในศพถือเป็นความผิดปกติที่ไม่เคยพบมาก่อน และคาดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้หักล้างคำกล่าวอ้างเหล่านี้ โดยระบุว่าลิ่มเลือดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นลิ่มเลือดที่พบบ่อยหลังการชันสูตรพลิกศพ
สมาคมผู้อำนวยการงานศพแห่งชาติ(สหรัฐ)เน้นย้ำว่าผู้เชี่ยวชาญด้านงานศพและฉีดยารักษาศพไม่มีคุณสมบัติที่จะสรุปผลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดและลิ่มเลือด
วิดีโอดังกล่าวยังรวมถึงฟุตเทจที่นำมาจากวิดีโอการศึกษาทางการแพทย์ที่โพสต์บน YouTube ในเดือนเมษายน 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นขั้นตอนที่เรียกว่าการผ่าตัดเอาหลอดเลือดอุดตันในปอด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด
องค์กรอิสสระ FactCheck ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้วพบว่า “ เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (fake news)” https://www.factcheck.org/.../scicheck-died-suddenly.../
Factcheck เป็นองค์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่แสวงหากำไรมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับหรือผลกระทบของการหลอกลวงและการสร้างความสับสนทางการเมืองในสหรัฐฯ Factcheck ตรวจสอบความถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่กล่าวโดยบรรดานักการเมือง หรืออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในสหรัฐ ในรูปแบบของโฆษณาทางทีวี การโต้วาที การกล่าวสุนทรพจน์ การสัมภาษณ์ และการเผยแพร่ข่าว เป้าหมายของ Factcheck คือเพิ่มความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนชาวอเมริกัน
ล่าสุดนายทหารอากาศสหรัฐนอกราชการ Thomas Haviland ได้นำเสนอข้อมูลลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง โดยการจัดทำโพลที่ไม่แสดงแหล่งอ้างอิง สอบถามไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฉีดยารักษาศพ และส่งข้อมูลที่สรุปได้ไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหรัฐ กล่าวคือ US NIH, US CDC ให้พิจารณาถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมทั้งให้สัมภาษณ์ในรายการของ Dr. John Cambell อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของอังกฤษในด้านสุขภาพ มียอดผู้เข้าชมถึง 1,462,545 ครั้ง ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
https://www.youtube.com/watch?v=4rAoqhTUU0g&t=2572s
สำหรับในไทยหากท่านประสงค์จะตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในหลอดเลือดจากศพในช่วงเวลาที่ผ่านมาสามารถทำโพลสอบถามผู้ที่มีหน้าที่ฉีดยารักษาศพได้เช่นกัน โดยอาจพิจารณาสอบถามในเบื้องต้นว่าในประเทศไทย
ก่อนปี 2019/2562 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19)
ปี 2020/2563 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ไวรัสอู่ฮั่นและไวรัสอัลฟา ระบาด ยังไม่มีวัคซีนใช้)
ปี 2021-2022 /2564-2565 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการระดมวัคซีนโควิด-19 มีผู้เข้ารับการฉีดถึง 80%)
ปี 2023/2024 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดลง) หากพบมีมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับปี 2021-2022
ส่วนวัคซีนโควิด-19 ก่อให้เกิดลิ่มสีขาวในหลอดเลือดจริงหรือไม่ และด้วยกระบวนการใด จำเป็นต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพร้อม
การนำประเด็น "ใช่หรือไม่ที่วัคซีนโควิดทำให้เกิดลิ่มขาวคล้ายหนังยางในหลอดเลือดศพ" ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้เชียวชาญควรทำ จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆได้ใช้วิทยาศาสตร์มาร่วมสืบสวนหาคำตอบสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพราะผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะน้อยหรือมากจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนส่วนใหญ่ของโลก