เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ พร้อมด้วยนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมวางยาสลบเสือเพื่อตรวจสุขภาพและตรวจอาการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายสัตวแพทย์อานนท์ ชุมคำลือ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาในสัตว์ ร่วมตรวจรักษา จากการตรวจลูกตาโดยใช้เครื่องวัดความดันตา และอัลตร้าซาวด์ดวงตา
จากการตรวจพบว่า ลูกตามีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่า ของอีกข้าง ภายในมีของเหลวและก้อนเนื้อ พิจารณาแล้ว เห็นว่าหากปล่อยไว้เสือจะมีความเจ็บปวด เนื่องจากการขยายขนาดของดวงตาอาจส่งผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ และหากปล่อยไว้อาจมีผลต่อดวงตาอีกข้าง จึงทำการผ่าตัดควักตาข้างที่บาดเจ็บออก เย็บปิด ให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดการอักเสบ ยาลดปวด น้ำเกลือ และให้ยาฟื้นสลบ โดยได้เก็บตัวอย่างเลือดและดวงตา เพื่อตรวจค่าเลือด ตรวจโรค ตรวจชิ้นเนื้อ และตรวจรหัสพันธุกรรม โดยส่งตรวจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง กรมปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
การตรวจสุขภาพของบะลาโกลในครั้งนี้ คณะทำงานได้ตรวจสอบเพศอีกครั้ง และพบว่าบะลาโกลเป็นเพศผู้ จากก่อนหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากร่างกายที่ซูบผอม โดยมีอายุ 2 ปีกว่า ๆ
คำถามที่ว่า “การผ่าตัดควักลูกตาของเสือออก” จะทำให้การดำเนินชีวิตของเสือหลังจากนี้ จะเป็นอย่างไรนั้น ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือได้เคยให้ข้อมูลไว้ การที่ดวงตามองเห็นได้เพียงข้างเดียว จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากในธรรมชาติก็สามารถพบเห็นสัตว์ที่มีดวงตามองเห็นข้างเดียวอาศัยอยู่ได้ ขอยืนยันว่าสัญชาตญาณนักล่าของบะลาโกลยังคงเต็มเปี่ยม
ขอบคุณ : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 12 (นครสวรรค์)