สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับ 8 สิ่งต้องระวังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังต่อไปนี้
1. “สภาพของคนและยานพาหนะในการเดินทาง” ก่อนเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาเส้นทางในการเดินทาง รวมถึงตำแหน่งสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเส้นทาง และควรตรวจเช็คสภาพรถให้มีความพร้อมในการขับขี่ โดยเฉพาะระบบห้ามล้อ ยาง และไฟส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่
2. “การขับขี่รถจักรยานยนต์” ควรสวมใส่หมวกนิรภัยตลอดเวลาที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งคนขับและคนซ้อน เมื่อขับขี่มาถึงบริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ควรขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ไม่เบรกกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลัก หรือรถที่ขับขี่ตามหลังหยุดไม่ทัน และควรใช้มือทั้งสองข้างจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ไว้ให้มั่น
3. “ไม่ขับขี่ขณะเมาสุรา” เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากขับขี่ขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุจนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43(2) ประกอบมาตรา 160 ตรี วรรคสี่
4. “ไม่โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมข้อความชักชวน” เพราะการโพสต์ในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 43
5. “ไม่โพสต์ภาพวาบหวิวหรือภาพลามก” เพราะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(4)
6. “การถูกทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศ” เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พี่น้องประชาชนมักจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ตามสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ไม่หวังดีอาจอาศัยจังหวะที่คนหนาแน่น เข้ามาทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะผู้ที่แต่งกายวาบหวิว จะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
7. “การถูกลักทรัพย์” เนื่องจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีคนอาศัยอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดี ใช้โอกาสนี้เข้าไปลักทรัพย์ จึงควรที่จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือเข้าร่วมโครงการ “ฝากบ้าน 4.0” เพื่อยกระดับความปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่ควรนำทรัพย์สินมีค่าติดตัวไปเล่นน้ำสงกรานต์ เพราะอาจเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพได้
8. “อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็กและเยาวชนในการเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำท้ายรถกระบะ การลงไปว่ายน้ำในลำคลอง การสาดน้ำหรือฉีดน้ำใส่รถจักรยานยนต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาสู่อุบัติเหตุซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ พี่น้องประชาชนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการเล่นน้ำสงกรานต์ และควรดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ สามารถโทรศัพท์มาที่ สายด่วน 191 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ