เศร้ารับวันสงกรานต์ "กุศล กมลสิงห์" เสียชีวิตแล้ว ปิดตำนานราชาเพลงรำวง

15 เมษายน 2567

เศร้ารับวันสงกรานต์ สุดอาลัย "กุศล กมลสิงห์" หรือ นายบุญเหลือ ผดุงศิลป์ เสียชีวิตในวัย 90 ปี ปิดตำนานราชาเพลงรำวง

 ถือเป็นข่าวเศร้ารับวันสงกรานต์ เมื่อมีรายงานว่า "กุศล กมลสิงห์" หรือ นายบุญเหลือ ผดุงศิลป์ ตำนานราชาเพลงรำวง ผู้สร้างผลงานตราตรึงโด่งดังไว้มากมาย หนึ่งในผลงานเพลงอมตะคือเพลง "รักกลางจันทร์"  ได้เสียชีวิตที่บ้านพัก ในวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 13 เมษายน 256 ที่ผ่านมา 

 

เศร้ารับวันสงกรานต์ กุศล กมลสิงห์ เสียชีวิตแล้ว ปิดตำนานราชาเพลงรำวง

โดยนายกุศล กมลสิงห์ ฉายา "ราชาเพลงรำวง" เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 90 ปี ที่บ้านพักในหมู่บ้าน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการสวดพระอภิธรรม ณ ศาลา5  วัดเต็มรักสามัคคี 13 - 15 เมษายน 2567 เวลา 19.00 น. พิธีฌาปนกิจ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.

 

เศร้ารับวันสงกรานต์ กุศล กมลสิงห์ เสียชีวิตแล้ว ปิดตำนานราชาเพลงรำวง

ทั้งนี้ ทางด้านลูกชายได้โพสต์อาลัยคุณพ่อ ระบุข้อความว่า  "อดีตนักร้องลูกทุ่งรำวง กุศล กมลสิงห์ หรือ นายบุญเหลือ ผดุงศิลป์ ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุ 90ปี ขอให้บุญกุศลที่พ่อได้ทำมาให้พ่อได้ไปอยุ่บนสวรรค์ คอยมองลงมาดูลูกดูหลานดูแลช่วยเหลือข่วยให้ประสบความสำเร็จ..  ขอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี"

ประวัติ กุศล กมลสิงห์

ชื่อจริง "บุญเหลือ ผดุงศิลป์" เกิดเมื่อ 28 กันยายน 2477  หลังอายุได้ 20 ปี ได้ไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดและได้รางวัลชนะเลิศ  ได้รับถ้วยรางวัลสลักชื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

หลังจากนั้นก็เดินสายประกวดร้องเพลงเรื่อยๆจนได้รับรางวัลมากมาย และได้ตั้งวง“โชเฟอร์แบนด์” ขึ้น เขาร้องเพลงบันทึกเสียงครั้งแรกในชีวิต ในเพลง “นางในวรรณคดี” แต่งโดย “วัลลภ ชื่นใจชน”โดยใช้ชื่อ “รุ่ง ผดุงศิลป์”

ในปี พ.ศ.2505 ได้ร้องเพลง “รักกลางจันทร์” ของ “นิยม มารยาท” ทำให้ชื่อเสียงของ “กุศล กมลสิงห์” โด่งดังสุดๆ หลังจากนั้นครูเบญจมินทร์หันสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เสือเฒ่า” จึงให้กุศล กมลสิงห์ดูแลวงแทน และต่อมาในปี พ.ศ.2507 เปลี่ยนชื่อมาเป็นวง “กุศล กมลสิงห์”ตอนนั้น “มานพ แก้วมณี” ร่วมอยู่ด้วยแต่ใช้ชื่อ “เพลง เบญจพงษ์”

เศร้ารับวันสงกรานต์ กุศล กมลสิงห์ เสียชีวิตแล้ว ปิดตำนานราชาเพลงรำวง

วงกุศล กมลสิงห์ อยู่รับใช้แฟนเพลงถึงปี พ.ศ.2512 ก็ยุบวง เนื่องจากต้องไปราชการที่เวียดนาม นานถึง 7 ปี กลับมาเมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เป็นนักร้องรับเชิญร้องตามงานทั่วไป จนช่วงหลังสุขภาพไม่อำนวย หูไม่ค่อยได้ยิน ตาขวามืดมองไม่ค่อยเห็น ต้องใส่แว่นดำตลอด โดนแสงไม่ได้ และล่าสุดเส้นเสียงตีบ ทับปลายประสาท ทำให้ร้องเพลงไม่ได้ โดยมีเพื่อนพ้องในวงการแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน และ สมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย พนมนพพร  ชมรมคนรักลูกทุ่ง นำเงินมามอบให้ ไว้ใช้จ่ายเพื่อรักษาตัว