แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึง สถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat index)ช่วงวันที่ 18 - 27 เมษายน 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับอันตรายมาก (สีแดง) 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด สุรินทร์ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
จากผลอนามัยโพลโดยกรมอนามัยเรื่อง ฤดูร้อนนี้ สุขภาพดีหรือยัง? ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 4 เมษายน 2567 มีผู้ตอบ 682 คน พบว่า ช่วงฤดูร้อนปีนี้ประชาชนมีความกังวลว่าความร้อนจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง ร้อยละ 52.8 และมีความกังวลมาก ร้อยละ 19.8 โดยอาการจากความร้อนที่พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ร้อยละ 21.9 รองลงมา มีอาการท้องผูก ร้อยละ 13.6 และเป็นตะคริวที่ขา แขน หรือท้อง ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ
แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนที่ประชาชนปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน พบว่า ทานอาหารปรุงสุกใหม่ถึง ร้อยละ 93.9 รองลงมาคือ ล้างมือก่อนทาน/ทำอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม ร้อยละ 93.8 ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ร้อยละ 87.8 สำหรับพฤติกรรมที่ปฏิบัติเป็นประจำได้น้อยที่สุด ได้แก่ เช็คพยากรณ์อากาศก่อนออกจากบ้าน ร้อยละ 56.7อาบน้ำบ่อยขึ้นหรือหลังจากอยู่กลางแจ้ง ร้อยละ 59.3 และอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 63.7
ทั้งนี้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายหรือสีส้ม ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังเด็ดขาด
“ที่สำคัญควรสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากเสี่ยงโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ อุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดงร้อน ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ สับสน มึนงง คลื่นไส้หรืออาเจียน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกให้รีบปฐมพยาบาล ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 และขอให้ทุกคนติดตามคำแนะนำการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน จากกรมอนามัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว