กทพ.ชี้แจงแล้ว หลังว่อนข่าวปิดทางด่วน 1 ปี แท้จริงปิดแค่บางช่วงเวลา

04 พฤษภาคม 2567

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชี้แจงแล้ว กรณีว่อนข่าวที่อาจสร้างความเข้าใจผิด ปิดทางด่วน 1 ปี แท้จริงปิดแค่บางช่วงเวลา

วันที่ 4 พ.ค.67 จากกรณีว่อนข่าว ปิดทางด่วน 1 ปี ที่อาจสร้างความเข้าใจผิด  ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีการชี้แจงหลังมีกระแสข่าวปิดทางด่วน 1 ปี โดยระบุว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ข่าวปิดทางด่วน 1 ปี ทางด่วนเฉลิมมหานคร (ด่วนขั้นที่ 1) ช่วงสุขสวัสดิ์-ดาวคะนองการทางพิเศษแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นเพียงการปิดเบี่ยงจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงเวลา 21.00 – 05.00 น.  (ช่วงกลางคืน) มิใช่ปิดทางด่วนตลอด 24 ชั่วโมง

กทพ. แจ้งการเบี่ยงการจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางขึ้นมุ่งหน้าไปดาวคะนอง (ฝั่งขาออก) ด่านฯดาวคะนอง (ฝั่งขาเข้า) และด่านฯ สุขสวัสดิ์ (ฝั่งขาเข้า)การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ITD-VCB Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างดําเนินการก่อสร้าง 

โครงการทางพิเศษสายพระราม3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกสัญญาที่ 3 แจ้งการปิดเบี่ยงการจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร 

เพื่อดำเนินการติดตั้งชิ้นส่วนทางวิ่งยกระดับของโครงการฯ จำนวน 3 แห่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึง 31 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 21.00 น.- 05.00 น. ดังนี้
1. บริเวณทางขึ้นมุ่งหน้าไปดาวคะนอง ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ
2. บริเวณหน้าด่านฯ ดาวคะนอง ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ
3. บริเวณหน้าด่านฯ สุขสวัสดิ์ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ

กทพ. ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอความร่วมมือผู้ที่ใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวโปรดสังเกตป้ายเตือนสัญญาณจราจรต่างๆ และปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง หากมีข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-405-4896 ตั้งแต่ 08.00-19.00 และ 062-912-6211 ตลอด 24 ชั่วโมง

กทพ. ชี้แจงแล้ว หลังว่อนข่าวปิดทางด่วน 1 ปี แท้จริงปิดแค่บางช่วงเวลา