ข่าวดี! บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ “เจาะเลือดผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน”
วันนี้ (13 พ.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพิ่มความมั่นใจในระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมสนับสนุนงานของรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเดินหน้าส่งเสริมโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
พร้อมยกระดับการบริการร่วมกับคลินิกเทคนิคการแพทย์ ให้เป็นหน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ โดยให้บริการการตรวจแล็บตามชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) อย่างครบวงจรที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ใกล้บ้าน พร้อมบริการเจาะเลือดให้ผู้ป่วยที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา ลดความแออัดในการเดินทางมาโรงพยาบาล
กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้สภาเทคนิคการแพทย์ ได้ร่วมกับ สปสช. ให้บริการเจาะเลือดผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่มีภาวะติดบ้านติดเตียงด้วย โดยมีนักเทคนิคการแพทย์เข้าไปเจาะเลือดให้ผู้ป่วยที่บ้าน ให้บริการตามชุดสิทธิประโยชน์ 24 รายการ ได้แก่
1. บริการตรวจเลือดสำหรับผู้ป่วยนอก รวม 22 รายการ ซึ่งต้องมีใบสั่งตรวจแล็บจากหน่วยบริการที่ดูแล เช่น การตรวจความเข้มข้นของเลือด การตรวจวัดระดับน้ำตาล การตรวจการทำงานของตับ-ไต ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
2. เป็นบริการที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งตรวจแล็บ คือ บริการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (กลุ่มเป้าหมายอายุ 50-70 ปี)
ในปัจจุบัน มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่สมัครลงทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิแล้วประมาณ 90 แห่ง และคาดว่าจะมีคลินิกเทคนิคการแพทย์สมัครเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
1. สายด่วน สปสช. 1330
2. ช่องทางออนไลน์
ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
“นายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย เพิ่มการอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเข้าถึงการตรวจและการรักษาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งใช้นวัตกรรมมีการเชื่อมต่อข้อมูลในการรักษาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทำการรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง รอบคอบ ลดความแออัด และลดความเสี่ยงจากการเดินทางไปโรงพยาบาล” นายชัย กล่าว