เปิดข้อมูล "โรคงูสวัด" คนกลุ่มไหนเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน มีโอกาสเป็นมากที่สุด

17 พฤษภาคม 2567

โรคงูสวัด หรือโรคที่เกิดจากไวรัส แม้เป็นแล้วจะหายเองได้ แต่ก็เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย เผยอาการงูสวัดต่าง ๆ งูสวัดมักเกิดขึ้นในกลุ่มไหน วิธีป้องกันงูสวัด

โรคงูสวัดเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) แม้จะหายเองได้ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ซึ่งไวรัสนี้เป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และเป็นไวรัสที่อยู่ใน กลุ่มเดียวกับไวรัสเริม โดยที่ผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคสุกใสแล้ว มื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท จะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

ซึ่งไวรัสจะมีการแบ่งตัวทำให้การปล่อยเชื้อไวรัสออกมาตามแนวเส้นประสาท การเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้น

มักเกิดขึ้นในกลุ่ม

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด

อาการแสดง

  • ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ซึ่งถูกควบคุมโดยแนวเส้นประสาท
  • มีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท
  • ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย

อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (postherpetic neuralgia) เป็นอาการปวดแสบร้อนรุนแรงบริเวณที่เคยเป็นผื่นงูสวัด พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการปวดนี้อาจกินเวลานานหลายเดือน หลายปี หรืออาจปวดเรื้อรังตลอดชีวิต

การติดเชื้อแบคทีเรีย บนแผลตุ่มน้ำของโรคงูสวัด

- ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือ จอประสาทตาอักเสบ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดบริเวณใบหน้า

- โรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) ทำให้ใบหน้าเป็น อัมพาตครึ่งซีก

- ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ

 

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่พบได้น้อย

- ปอดอักเสบ

- ตับอักเสบ

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อน

- ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV โรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือยาที่กดภูมิคุ้มกัน

- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต

- ผู้ป่วยที่เคยเป็นงูสวัดมาก่อน

การป้องกัน

  • การฉีดวัคชิ้น zoster จะใช้ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • การดูแลสุขภาพลดความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เมื่อเป็นโรคงูสวัดควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษาต่อไป

เปิดข้อมูล "โรคงูสวัด" คนกลุ่มไหนเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน มีโอกาสเป็นมากที่สุด