จากกรณีที่มีรายงานการขุดพบพระพุทธรูป ที่ สปป.ลาว พร้อมกับวัตถุุโบราณหลายชิ้น ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์งดงาม ภายในหาดทรายกลางแม่น้ำโขง ฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งคาดว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณมีอายุมากกว่า 500 ปี
ต่อมาทางด้าน นายพยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล หรือ อาจารย์ต๋อง ฉายาครูบาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา ออกมาแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ว่า โลหะจมดินจมน้ำไม่ถึง 100 ปี มันจะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุน ไม่มีเหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอนั่นหรอก ฟันธงพระพุทธรูปดังกล่าวอายุประมาณ 50 ปี มีอายุไม่ถึง 500 ปี เพิ่งทำการหล่อมาได้ไม่ถึง 2-3 เดือน แล้วมีคนมือดีเอามาฝังสดๆใหม่ๆ พร้อมท้าพิสูจน์
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 67 กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก Kornkit Disthan ระบุว่า "ไม่ได้เขียนซะนานเลย กะว่าจะเขียนตั้งแต่เขาเจอพระที่เมืองต้นผึ้งใหม่ ๆ ก็ยังไม่มีเวลา ตอนนี้เจอ "พระเจ้าตนหลวง" ขนาดใหญ่โตขุดได้จากริมโขง ใบหน้าทรวดทรงงามเสียจนผมว้าวในใจ
แต่เกิดวิวาทะเรื่อง "พระเก่าพระใหม่" ขึ้นมา บางคนก็ว่า "หน้าจีน" (เพราะคิดว่าจีนมีส่วนเนื่องจากแถวนั้นมี "นิคมจีน" อยู่ไม่ไกล)
ก่อนอื่นพระองค์ล่าสุดที่เจอนั้นหน้าไม่จีนหรอกครับ ถ้าคุ้นพุทธศิลป์ลาวก็จะรู้ว่าคล้ายไปทางพระลาว แต่บางท่านก็ว่าผสมเชียงแสน ซึ่งแม้ว่าผมไม่ถนัดจะฟันธงเรื่องนี้ แต่โดย "ความรู้สึกส่วนตัว" คิดว่าออกไปทางพุทธศิลป์ลาว
ส่วนพระเก่าพระใหม่ตอนแรกผมก็เอะใจ เพราะกะด้วยสายตาตอนแรกสงสัยว่าทำไมองค์ใหญ่ขนาดนี้ถึงได้หล่อได้ตลอดองค์ ซึ่งต่างไปจากพระโบราณที่จะหล่อแยกเป็นชิ้น ๆ แล้วต่อเป็นองค์ด้วยลิ่มบ้างหรือด้วยหมุดบ้าง
แต่ต่อมาได้เห็นชัด ๆ ว่าพระที่เพิ่งขุดเจอนั้นเต็มไปด้วยรอยต่อและลิ่ม ผมจึงเชื่อว่า "นี่ทำใหม่ยากแล้ว" อีกทั้งพุทธศิลป์ขององค์นี้งามหมดจดมาก ทั้งฐานพระก็พิสดารเกินฝีมือช่างปัจจุบัน ผมจึงเชื่อว่า "ไม่ควรจะเป็นของใหม่"
เห็นแล้วผมนึกถึงพระโบราณที่ผมไปไหว้อยู่บ่อย ๆ คือ "หลวงพ่อพระร่วงทองคำ" พระสมัยสุโขทัย ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เดิมท่านอยู่ศรีสัชนาลัย แต่ชลอมาไว้เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3
หลวงพ่อท่านขนาดน่าจะเท่ากับหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้ง ใหญ่เล็กกว่ากันไม่เกินศอก แต่ท่านหล่อจากทองคำเปล่งปลั่ง 60% หลังจากที่ทางวัดเคลียร์พระวิหารอยู่หลายปีก่อน ผมค่อยเข้าไปดูหลังองค์ได้ จึงเห็นกับตาว่า องค์พระมีรอยต่อทั้งองค์ ที่ไหล่นั้นมีหมุดตอกไว้ รวมแล้ว 9 จุดรอยต่อ
ผมถ่ายภาพแล้วอธิบายไว้อย่างที่เห็นแหละครับ แต่นี่แค่ครึ่งองค์ รอยต่อกลางบั้นเอวนั้นยาวรอบเหมือนองค์ที่พบที่ต้นผึ้ง เพียงแต่ที่ต้นผึ้งต่อด้วยลิ่ม ที่กรุงเทพฯ ต่อด้วยหมุด
ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมหลวงพ่อที่เจอที่ต้นผึ้งพระไม่ผุ อันนี้ตอบยากเพราะไม่ถนัดโลหะวิทยา แต่ในโลกเรามีการพบประติมากรรมโลหะที่จมน้ำแล้วยังอยู่ดีไม่บุบสลายอยู่มากมาย แม้แต่ในไทยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน
ผมว่าผมจะไม่กล้าฟันธงอะไร เพราะยังไม่เห็นกับตา และยังไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้นพบนี้มีน้ำหนักคือการพบ "เสาวิหาร" ที่มีลายปูนปั้นแบบล้านนาโบราณ
ก่อนที่จะพบเสานั้น มีการพบพระล็อตแรก ๆ ที่พบริมโขง ตอนแรกผมก็สงสัยว่า "คนในวงการปลอมพระเล่นตลกอะไรอีกหรือเปล่า?" แต่พอเห็นเสาต้นนั้นกับพระธาตุเจดีย์ที่มีแผ่นจังโก (ทองแดงหุ้มพระธาตุ) ผมก็หมดสงสัย
อีกเรื่องที่น่าวิเคราะห์ก็คือ จุดที่พบนั้นคือจุดไหนในประวัติศาสตร์?
บางคนบอกว่า "นั่นคือดอนแท่น" สถานที่ตั้งวัดวาอารามสำคัญสมัยเชียงแสน รวมถึงที่ตั้งของพระล้านตื้อ (ที่พบแต่พระเมาลีอันใหญ่โต และบางคนเริ่มโยงว่าพระใหญ่ที่ต้นผึ้งจะเป็นพระเจ้าล้านตื้อหรือเปล่า?)
แต่ที่ตั้งของดอนแท่นนั้นเป็นปริศนา แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังตกลงกันไม่ได้ นักวิชาการที่เขียนเรื่องพระเจ้าล้านตื้อยังได้แค่สันนิษฐาน
ผมคนนอกพื้นที่จึงได้แต่ฟังเขาวิเคราะห์ ไม่สามารถสู่รู้เกินผู้รู้ได้ แต่ก็ได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่อง "ดอนแท่น ปริศนาที่เชียงแสน" โดย ฉัตรลดา สินธสอน ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (วารสารศิลปากร ปีที่ 57 ฉบับที่5) งานวิจัยนี้ไล่เรียงประวัติศาสตร์และการสันนิษฐานที่ตั้งของเกาะดอนแท่นได้รัดกุมดีมาก
ที่ดีมากอีกอย่างคือมีภาพแผนที่เก่าประกอบให้เห็นด้วยว่า เกาะดอนแท่นนั้นเคยอยู่กลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับ สภอ.เชียงแสน แต่ตอนนี้หายไปแล้ว บางครั้งเรียกว่า "เกาะดอนแห้ง" ส่วนจุดที่พบพระพุทธรูปที่ฝั่งต้นผึ้ง ผมกะดูแล้วควรจะเป็น "หาดเกาะหลวง" ในแผนที่นี้เป็นแค่หาดทราย ตอนนี้กลายเป็นเกาะจริง ๆ ไปแล้ว
บางทีพระต่าง ๆ และพระวิหารเจดีย์ที่ขุดเจออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะดอนแท่นก็ได้ แล้วกระแสน้ำพัดไปตกที่ฝั่งหาดเกาะหลวงที่แต่ก่อนอยู่ประชิดกันช่วยกันวิเคราะห์ครับ เพราะผมก็ไม่รู้"
ขอบคุณ FB : Kornkit Disthan , ล้านนาประเทศ