ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิต-จำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

18 มิถุนายน 2567

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. สสจ.นครปฐม และปศุสัตว์ จ.นครปฐม ตัดวงจรยาสัตว์เถื่อน ทลาย 2 เครือข่ายผลิต จำหน่าย และนำเข้า มูลค่ากว่า 84 ล้านบาท

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ  สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์  คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กระทรวงสาธารณสุขโดย นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย  นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม โดย ภก.วีระศักดิ์ เหล่าตระกูล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม โดย น.สพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์,  น.สพ. วรากร  จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม แถลงผลการปฏิบัติการ กรณี บุกทลายเครือข่ายผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และนำเข้ายาสัตว์เถื่อน ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางกว่า 214,894 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 84,000,000 บาท

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ทำการตรวจสอบการลักลอบผลิตยาสัตว์ สถานที่เก็บ และร้านจำหน่ายยาสัตว์เถื่อน ซึ่งหากนำมาใช้กับสัตว์อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งแม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ได้

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

โดยเมื่อประมาณ เดือนเมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กวาดล้างแหล่งผลิตและจำหน่ายยาหยอดเห็บหมัดสัตว์เถื่อน ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้าจากต่างประเทศในครั้งนี้ จำนวน 2 เครือข่าย ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร รายละเอียดดังนี้

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

1. เครือข่ายผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศไทย สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต สถานที่จัดเก็บ สถานที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 จุด ได้แก่

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

1.1 สถานที่ผลิต และจำหน่าย พื้นที่ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตรวจยึดเครื่องตอกเม็ดยา, เครื่องผสมผงยา, ยาเม็ดตอกเสร็จแล้ว, วัตถุดิบที่ใช้ผลิต, สมุดจดสูตรส่วนผสม รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผลิต จำนวนกว่า 20 รายการ

1.2 สถานที่จัดเก็บสินค้า และจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน รวมกว่า 112 รายการ เช่น

               1.2.1 กลุ่มยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintics) จำนวน 33 รายการ เช่น ยา Ivermectin 6000 mcg, Ivermec F, En-dex® 4000, IVERPETS รสเนื้อ (Ivermectin 4,000 mcg), IVERMEC-F Plus, KILLER WORM,IVERPETS รสเนื้อ (Ivermectin 4,000 mcg Praziquantel 120 มิลลิกรัม)  เป็นต้น

               1.2.2 กลุ่มยาฮอร์โมน (Hormones) จำนวน 3 รายการ เช่น PROTECTER ยาคุมกำเนิดสำหรับสุนัขและแมว, CO-THAI (Estrogen Implant) และ OXYTOCIN พบยาฮอร์โมนแบบฝังและฉีด หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีคุณภาพและนำไปใช้ในสัตว์บริโภค อาจทำให้มนุษย์ได้รับฮอร์โมนเกินความจำเป็น

               1.2.3 กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Steroids) จำนวน 3 รายการ เช่น DEXON-A , Dexazin 2% และ DEXACIN® – A  พบยาต้านการอักเสบ หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีคุณภาพ และนำไปใช้ในสัตว์บริโภค อาจทำให้มนุษย์ได้รับสเตียรอยด์ จนก่อให้เกิดโรค เช่น กระดูกพรุน เกิดหนอกที่คอ กระเพาะทะลุ

               1.2.4 กลุ่มยาต้านแบคทีเรีย (antibiotics) จำนวน 31 รายการ เช่น ENRO-200, Chloramphenicol, TYSIN – PLUS, Sulfa 50%, Doxy – 20, Cefta Injection, GENTACIN 100, Ampicillin, AMOXY 10%, PENSTREP เป็นต้น พบยาประเภทยาฆ่าเชื้อในรูปแบบยาฉีดและยาในรูปแบบที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ ในฟาร์มสัตว์บริโภค หากยาดังกล่าวไม่มีการควบคุมคุณภาพ โดยการขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาในมนุษย์ และยาต้านแบคทีเรียบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงได้มนุษย์ได้

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน

1.3 สถานที่จัดเก็บสินค้า และจำหน่าย ในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน รวมกว่า 6 รายการ ดังนี้

               1.3.1 En-Dex ขนาด 4000® ขนาด 8000® ขนาด 12000® สำหรับกำจัดเห็บหมัดสุนัข รวม 520 กล่อง

               1.3.2 ผลิตภัณฑ์ยา Vmaxtin anti-parasitic tablet fordog ขนาด 10 Kg ,ขนาด 10-20 Kg , ขนาด 20-40 Kg รวม 676 กล่อง

จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าว เป็นกลุ่มเครือข่ายที่เคยถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2563 กรณีคดีนักวิ่งถูกวางยา “ยาไซลาซีน” ที่ใช้ในกลุ่มสัตว์ในน้ำดื่ม ขณะที่ไปวิ่งที่สวนสาธารณะพื้นที่ จ.นนทบุรี  แต่การสืบสวนยังพบการยังลักลอบผลิตและจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ได้ประสานข้อมูลและเฝ้าระวังร่วมกันมาโดยตลอด โดยพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ อ.กำแพงแสน โดยเมื่อผลิตเสร็จแล้ว สินค้าจะถูกนำไปจำหน่ายในพื้นที่ อ.กำแพงแสน อ.ดอนตูม อ.สามพราน และกระจายตามร้านเพ็ทช็อป และผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วประเทศ

ตร.บุกทลายเครือข่ายผลิตและจำหน่าย นำเข้ายารักษาสัตว์เถื่อน