นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ หมอหมู เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลอินทรารัตน์ รามอินทรา กม.9 และถือเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถ และทุ่มเทให้กับวิชาชีพ ผลงานของท่านมีส่วนช่วยส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมไทย ล่าสุด หมอหมู ได้ออกมาให้ความรู้ เรื่องของควันธูปเป็นพิษมากกว่าควันบุหรี่? และมีข้อมูลเชื่อมโยงมะเร็งปอด เนื้องอกในสมอง? เผยข้อมูลโดย ผ่านเฟซบุ๊ค นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี โดยระบุรายละเอียดดังนี้
การจุดธูปเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในหลายครอบครัวและในวัดส่วนใหญ่ในเอเชีย ซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อจุดประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเพราะมีกลิ่นหอมอีกด้วย ในระหว่างกระบวนการเผาไหม้ธูป จะมีการปล่อยอนุภาคออกสู่อากาศ สิ่งนี้สามารถเข้าสู่ปอดผ่านการหายใจได้ และเป็นที่รู้กันว่าอนุภาคเหล่านี้สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ซึ่งอาจกับเชื่อมโยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก และเนื้องอกในสมอง
การวิจัยนี้นำโดย Rong Zhou จาก South China University of Technologyและ China Tobacco Guangdong Industrial Company ในประเทศจีน และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters ของ Springer
ทีมงานของ Zhou ได้ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ควันธูปในบ้าน โดยมีการเปรียบเทียบกับผลของควันบุหรี่ พบว่า
1. ควันธูปมีสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งหมายความว่า ควันธูปมีคุณสมบัติทางเคมีที่อาจเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม เช่น DNA และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็ง
2. ควันธูปเป็นพิษต่อเซลล์และเป็นพิษต่อพันธุกรรมมากกว่าบุหรี่ที่ใช้ในการศึกษา
เห็นได้ชัดว่า จำเป็นต้องมีความตระหนักรู้และการจัดการกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการจุดธูปในสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้มากขึ้น
ในความเห็นส่วนตัว งานวิจัยนี้มีจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาน้อย การจะสรุปว่า “ควันธูปเป็นพิษมากกว่าควันบุหรี่” ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม รวมถึงธูปที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีหลากหลายชนิด ควรมีการศึกษาให้ครอบคลุม และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า ต้องได้รับควันธูปปริมาณเท่าไหร่ เป็นเวลานานเท่าไหร่ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เพื่อวางแนวทางในการใช้ธูปอย่างปลอดภัยในอนาคตครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก: Zhou, R. et al (2015). Higher cytotoxicity and genotoxicity of burning incense than cigarette, Environmental Chemistry Letters. DOI 10.1007/s10311-015-0521-7