จากกระแสที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย สวมใส่ชุดผ้าไหมสีฟ้าอมเขียว ขึ้นเวทีในงาน "THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ล่าสุด ดีไซเนอร์ ในฐานะของ "ผู้ออกแบบและตัดเย็บชุด" ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงแล้ว
โดย "อุ๊งอิ๊งค์"แพทองธาร ชินวัตร เคลื่อนไหวผ่านในไอจี ingshin21 เปิดเผยว่า ต้องขอบคุณ คุณธรากร คำทอน ผู้ออกแบบจากสาขาวิชาการออกแบบ (สิ่งทอและแฟชั่น) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่นค่ะ ที่ได้มอบชุดสวยตัวนี้ให้อิ๊งค์ใส่
แรงบันดาลใจของชุดนี้มาจากการแต่งกายของชาวอีสาน หลายกลุ่มหลายชนเผ่าทั้ง ภูไท ไทพวน ไทดำ และชนเผ่าอื่น ๆ รวมกัน ในทุกชนเผ่าจะมีหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ ผ้าเบี่ยง
ผ้าสไบที่ใช้พาดจากบ่า สัญลักษณ์สำคัญของสตรีอีสาน มีเอกลักษณ์สวยแตกต่างกันในแต่ละเผ่าค่ะ เป็นเครื่องแสดงถึงสถานะทางสังคมและมักจะถูกใช้โอกาสที่สำคัญเท่านั้นค่ะ
สีแดงคือผ้าแพรวา สีน้ำเงินคือผ้าย้อมคราม ผสมรวมกับผ้าไหมมัดหมี่ลายประยุกต์ ซึ่งกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนมา ทีมที่ทำชุดต้องลงไปที่ชุมชนเพื่อค้นหาผ้าด้วยตัวเอง เพราะต้องการนำเสนอผ้าที่สวยงามและซับซ้อน ความภาคภูมิใจของคนอีสาน
อิ๊งค์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้สวมชุดที่มีรากทางวัฒนธรรม ประยุกต์ด้วยองค์ความรู้ร่วมสมัย ตัดเย็บด้วยความประณีต ผ่านการค้นคว้าทำงานอย่างหนักค่ะ ทำให้ผ้าไทยถูกพัฒนาและยังอยู่ในโลกแฟชั่นได้อย่างสง่างาม
ปีนี้เราได้เห็นพัฒนาการของผ้าไทยหลายอย่าง และคิดว่าเราจะได้เห็นแบบนี้ไปอีกหลายปีเลยค่ะ จากการทำงานของทีมซอฟ์ตพาวเวอร์ใครที่สนใจเรื่องแฟชั่น หรือการใช้องค์ความรู้ออกแบบผ้าไทย มาชมนิทรรศการของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ ศูนย์สิริกิติ์ได้เลยนะคะ มีตัวอย่างการใช้ผ้าสวยๆ หลายตัวอย่างเลย ยังมาได้อีกสองวันนะคะ พรุ่งนี้และวันอาทิตย์ 29-30 มิถุนายน 2567 ค่ะ ห้ามพลาดเลยนะคะ
ล่าสุดนายธรากร คำทอน ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุด จากสาขาวิชาการออกแบบ (สิ่งทอและแฟชั่น) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Thara Thorn ถึงแรงบันดาลใจ ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออกแบบจำนวนมาก และน้อมรับทุกคำติชม
ในฐานะของ"ผู้ออกแบบและตัดเย็บชุด"
ขออธิบายการทำงานของชุดนี้ก่อนนะคะ เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเราเพราะโจทย์คือการเอาผ้าเอกลักษณ์ของชาวอีสานมาผสมผสานกันให้เป็น 1 ชุด ภายใต้ความเป็นภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งผ้าแต่ละชนิดมีความเป็นตัวเองสูง ชัดเจนทางด้านลวดลาย เทคนิค และการใช้งาน โดยการนำผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวาและผ้าครามมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้ จึงเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร
ซึ่งเรานึกถึง "ผ้าเบี่ยง" ผ้าสไบพาดหน้าอกของผู้หญิงในภาคอีสานที่แต่ละชนเผ่าจะมีการใช้ผ้าเบี่ยงเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงเผ่าพันธุ์ แสดงถึงภูมิปัญญาที่งดงามและผ่านการเวลา เรื่องราวและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เราสัมผัสถึงความสง่างามและทรงพลังของผ้าผืนเล็กๆ ที่มากมายไปด้วยเรื่องราว วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนที่ราบสูงที่เราเรียกกันว่า"คนอีสาน" ผสมผสานความเป็นสากลด้วยโครงสร้างเสื้อสูทและใช้สีสันที่ทันสมัยเพื่อปรับภาพลักษณ์ของผ้าไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะทำได้
ส่วนที่สอง หนูขอขอบพระคุณท่านผู้ใหญ่ผู้ที่ดูแลโครงการนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์วิชาสิ่งทอแฟชั่น สาขาวิชาการออกแบบ ทุกท่านที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา และให้โอกาสในการได้ออกแบบและตัดเย็บชุดนี้จนสำเร็จ และในฐานะของศิษย์เก่าขอขอบพระคุณเหล่าคณาจารย์ทุกท่านที่ยังสนับสนุนและผลักดันศิษย์ไปในทางที่ดีเสมอมา
ส่วนที่สาม จากคำชื่นชมและตำหนิของพี่น้องๆในโซเซียล เราฐานะผู้ออกออกแบบและตัดเย็บของน้อมรับทุกความคิดเห็น พร้อมจะปรับปรุงและพัฒนาให้งานต่อไปออกมาดีขึ้น และยังจะเต็มที่กับทุกโอกาสที่ได้รับมาเสมอ และขอขอบคุณทุกความชื่นชมในผลงานและขอขอบคุณแทนชาวบ้าน ชาวอีสานผู้ทำงานหัตกรรมพื้นบ้านอยู่ แม่ๆทอผ้าทุกท่านคงจะดีใจมากที่งานหัตถกรรมพื้นบ้านยังคงมีคนให้คุณค่าและเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาและสืบต่อไปได้ค่ะ
ที่มา Thara Thorn