อ.เจษฎ์ เตือน เจอคนรับ "ไซยาไนด์" ห้ามช่วยโดยการผายปอดเด็ดขาด

19 กรกฎาคม 2567

การช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับสารไซยาไนด์ "ห้ามทำการผายปอด เป่าปาก เป่าจมูก โดยเด็ดขาด" อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  โพสต์เตือน

คดีฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพ ถูกวางยาพิษในโรงแรมหรู ย่านราชประสงค์ และมีคำสรุปว่าเป็นการเสียชีวิตจากสารพิษ "ไซยาไนด์" ล่าสุด อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความแนะนำ การช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับสารไซยาไนด์ ระบุ

 

 

 

อ.เจษฎ์ เตือน เจอคนรับ "ไซยาไนด์" ห้ามช่วยโดยการผายปอดเด็ดขาด

เรื่องต้องระวังมากๆคือ ถ้าพบผู้ที่ได้รับไซยาไนด์เข้าไป หมดสติ หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ และจำเป็นต้องทำการปฐมพยาบาล ด้วยวิธี CPR นั้น ...

"ห้ามทำการผายปอด เป่าปาก เป่าจมูก โดยเด็ดขาด" ครับ ...

เพราะเราอาจจะได้อันตรายจากการรับสารไซยาไนด์เข้าไปได้ !

ขอเอาความรู้เกี่ยวกับสารพิษไซยาไนด์ จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ มาให้อ่านกันด้วยครับ

#วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

- ห้ามผายปอด เพราะผู้ช่วยเหลือมีโอกาสได้รับสารพิษ จากการเป่าปอด

เนื่องจากไซยาไนด์เป็นสารพิษที่รุนแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ในหลักนาที หากได้รับในปริมาณมาก อาจเสียชีวิตฉับพลันได้

- ดังนั้น จึงไม่มีวิธีการปฐมพยาบาลแบบจำเพาะเจาะจง กับการถูกสารพิษชนิดนี้ และควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

#หากสัมผัสกับไซยาไนด์ควรรับมืออย่างไร ?

- ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือกับ ไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้

- การสัมผัสทางผิวหนัง : หากร่างกายสัมผัสกับไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยทำให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน ไซยาไนด์ ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจาก ไซยาไนด์ ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล

- การสูดดมและรับประทาน : หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ ช่วยชีวิต (CPR) เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษ

- การสัมผัสทางดวงตา : ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และเดินทางไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา

- สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและทิ้งให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ