นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ
พร้อมประกาศ รับซื้อ"ปลาหมอคางดำ"จากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่น
โดย CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุก เร่งกำจัดปลาหมอคางดำ
ซึ่งทั้ง 5 โครงการมีรายละเอียดดังนี้
โครงการที่1
ร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม ผลิตเป็นปลาป่น จับมือ โรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร รับซื้อไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม
โครงการที่2
ปล่อยปลาผู้ล่า 200,000 ตัว ในแหล่งน้ำ มอบปลากะพงขาวไปแล้ว 45,000 ตัว ให้ประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี
โครงการที่3
สนับสนุนอุปกรณ์และคนในการจับปลา ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการระบาด “ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ” ที่ จ.สมุทรสงคราม 4 ครั้ง และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
โครงการที่4
พัฒนาอาหารจากปลาหมอคางดำ ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น น้ำพริกปลากรอบ
โครงการที่5
ร่วมวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ควบคุมประชากรปลาหมอคางดำระยะยาว โรงงานศิริแสงอารำพี รับซื้อปลาหมอคางดำไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม เพื่อทำปลาป่น ซึ่งความร่วมมือของทุกภาคส่วน ช่วยลดจำนวนปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง และ ม.เกษตรศาสตร์ เชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาอาหารจากปลาหมอคางดำ เช่น ปลาร้า ขนมจีนน้ำยาปลาป่นผลิตอาหารสัตว์
นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีโปรตีนที่สามารถนำมาผลิตเป็นปลาป่นคุณภาพ โรงงานยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้ โดยได้ประสานงานกับซีพีเอฟที่ร่วมปฏิบัติการกับกรมประมง และได้รับซื้อแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยยังคงเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง
“ตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ เริ่มการจับปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรสาคร ชาวประมงที่เริ่มออกปลาตั้งแต่วันแรก บอกกับท่านรัฐมนตรีเองว่า วันนี้ปลาหายไป 80% แล้ว แต่เรายังต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งรัฐก็มีมาตรการในการกำกับไม่ให้เกิดการลักลอบเลี้ยงและนำมาจำหน่าย การกำจัดด้วยวิธีการนี้จึงมาถูกทางและช่วยลดปริมาณปลาได้มาก การที่ทุกภาคส่วนมาช่วยกันเช่นนี้ถือว่าดีมาก” นายปรีชากล่าว
ด้านนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญโดยตรงกับการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการควบคุมปลา รวมถึงการพัฒนาแปรรูป เพื่อเร่งนำปลาออกจากแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็วและการปล่อยปลากะพงในเวลาที่เหมาะสม
ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการทำการวิจัยปลาชนิดนี้มาหลายปี และคิดว่างานวิจัยจะช่วยเติมเต็มภารกิจของกรมประมงได้ ปลามีโปรตีนที่ดี สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อการบริโภคได้ โดยมหาวิทยาลัยจะนำปลาหมอคางดำมาทำปลาร้า โดยใช้จุลินทรีย์ที่ช่วยย่นระยะเวลาการหมักปลาร้าให้สั้นลง ทั้งยังสามารถทำปลาป่นใช้ผลิตอาหารสัตว์ได้ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาหาแนวทางอื่นๆ ในการจัดการควบคุมปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความกังวลว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาเพื่อนำมาขายในโครงการรับซื้อนั้น ข้อเท็จจริง ระยะการเลี้ยงปลาหมอคางดำใช้เวลาเลี้ยงนานเป็นปี แต่มีเนื้อน้อย ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อ ที่สำคัญการนำมาเป็นปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์ยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปลาป่นจากต่างประเทศ