กรมประมง ชี้แจงชัด "ไข่ปลาหมอคางดำ" อยู่นอกปากพ่อปลาได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

26 กรกฎาคม 2567

กรมประมง ชี้แจงชัด "ไข่ปลาหมอคางดำ" อยู่นอกปากพ่อปลาได้กี่ชั่วโมง เผย ยังไม่เคยเจองานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงกรณีมีข้อสงสัยของสังคม เรื่อง ไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากปลาหมอคางดำได้ถึง 2 เดือน และยังฟักเป็นตัวได้ ว่า จากหลักวิชาการด้านประมง พบว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำเป็นปลาที่พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปากไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้นและออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา

กรมประมง ชี้แจงชัด ไข่ปลาหมอคางดำ อยู่นอกปากพ่อปลาได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก และในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้อีกอย่างแน่นอน

กรมประมง ชี้แจงชัด ไข่ปลาหมอคางดำ อยู่นอกปากพ่อปลาได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำแล้ว ไข่ปลาที่อยู่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้ว จะสามารถทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10 - 15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง ในกรณีไข่ปลาหมอที่ตกค้างบริเวณพื้นบ่อที่ตากไว้ และโรยปูนขาวแล้ว ไข่ปลาหมอไม่สามารถฟักเป็นตัวได้

สำหรับไข่ปลาที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งพบได้ในปลาบางชนิด เช่น ปลาคิลลี่ (Killifish) ที่เป็นปลาขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ซึ่งตามสัญชาตญาณเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ทำให้ไข่ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ โดยในฤดูที่แห้งแล้งปลาคิลลี่จะวางไข่ไว้บนพื้นดิน และเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนก็จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ