เรียกได้ว่าปัญหา "ปลาหมอคางดำ" ระบาดเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจของหลายพื้นที่ ล่าสุดทาง กรมประมง ได้ออกมาตรการสำคัญ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำระบาด โดยหนึ่งในนั้นคือ การปล่อยปลาผู้ล่า เป็น ปลาไทย ไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งมาตรการนี้จะดำเนินการต่อจากการใช้เครื่องมือประมงกำจัดปลาหมอคางดำร่วมกับชุมชนและหน่วยงานหลายภาคส่วน หลังจากที่ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ถูกจับและลดจำนวนลง ปลาผู้ล่าที่ปล่อยนั้นจะไปกำจัดประชากรปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ช่วยควบคุมวงจรการแพร่พันธุ์ของปลาในระยะต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 ทางนักวิชาการประมง รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ออกมาเสนอแนวคิดว่ามาตรการที่นำมาใช้กำจัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งนากและปลานักล่าไปจัดการ จับมาทำเมนูอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือ ทำน้ำหมักชีวภาพ อาจไม่ทันการณ์ เนื่องจากปลาหมอคางดำเกิดง่ายตายยาก และ ยังอึดทนปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า ทำให้แพร่พันธุ์ได้เร็วเหมือนกองทัพปีศาจที่คืบคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด
หากสถานการณ์เกินเยียวยา การใช้ "ไซยาไนด์" ปราบปลาหมอคางดำ อาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ วิธีนี้อาจดูโหดร้ายแต่เด็ดขาดและสามารถทำได้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขควบคุมเฉพาะ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิธีนี้อาจต้องยอมแลกกับปลาไทยที่จะตายไปพร้อมกัน
แต่ไม่น่าห่วงเพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก สำหรับข้อกังวลในเรื่องของสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่างๆนั้น ไม่น่าห่วงเพราะโครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์เป็นประจุลบและ พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้วและจะไม่มีการตกค้าง เพียงแต่จะต้องมีการศึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่แหล่งน้ำที่จะดำเนินการและระยะเวลาปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูปลาไทยครั้งใหม่ นี่เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำได้อย่างเห็นผล