เรียกได้ว่าข่าวเรื่องปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่จะรุนแรงที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 นั้น กลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล ล่าสุดได้รับการยืนยันแล้วโดยทางด้านเพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า
"เดือน พ.ย. 67 ปรากฏการณ์ลานีญาจะรุนแรงที่สุด จริงหรือ?" ตามที่มีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์เรื่องเดือน พ.ย. 67 ปรากฏการณ์ลานีญาจะรุนแรงที่สุด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
การเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ปรากฏการณ์เอนโซได้อยู่ในสภาวะปกติ โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเย็นลงเกือบทั่วทั้งบริเวณ สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างจากค่าปกติประมาณ -0.1 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตร
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พบว่า บริเวณอุณหภูมิน้ำทะเลที่ต่ำกว่าค่าปกติยังคงอยู่บริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทรฯ และขยายพื้นที่ขึ้นมาที่พื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ส่วนที่ระดับลึกบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร อุณหภูมิน้ำทะเลยังคงต่ำกว่าค่าปกติ แต่ที่ระดับใกล้ผิวน้ำทะเลอุณหภูมิเริ่มอุ่นขึ้นบ้างเล็กน้อย ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ระบบการหมุนเวียนบรรยากาศที่ระดับ 850 มิลลิบาร์ (เฮกโตปาสคาล: hPa) หรือที่ความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมตะวันออกที่มีกำลังใกล้เคียงกับค่าปกติพัดปกคลุมบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร
สำหรับลมที่ระดับ 200 มิลลิบาร์ (เฮกโตปาสคาล: hPa) หรือที่ความสูงประมาณ 11 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมที่มีกำลังแรงกว่าปกติพัดข้ามแถบศูนย์สูตรบริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร การคาดหมาย จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ และระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร ประกอบกับเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัตแล้ว คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567 ถึงมกราคม 2568
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://tmd.go.th/ หรือโทร 02-399-4547
อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรค่อนข้างมาก โดยหลักๆ แล้ว ลานีญาจะทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากฝนตกหนักเกินไปหรือต่อเนื่องนานเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อพืชผลได้เช่นกัน
โดยอาจเกิดน้ำท่วมขัง พืชผลที่ปลูกในพื้นที่ต่ำหรือบริเวณที่ระบายน้ำไม่ดี อาจจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้รากเน่าและตาย ดินที่ชื้นแฉะเกินไป อาจทำให้เกิดโรคพืช เช่น โรคราต่างๆ ทำให้ผลผลิตเสียหายฝนที่ตกหนักอาจทำให้ดินถูกชะล้าง พัดพาปุ๋ยและสารอาหารในดินไป ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และผลไม้และพืชผักที่เก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายจากฝนตกหนัก ทำให้คุณภาพลดลง นอกจากนี้สภาพอากาศที่ชื้นและอบอุ่น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้พืชผลเสียหายได้ง่ายอีกด้วย
ขอบคุณเพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand