เปิด 4 จังหวัด ขอทานเยอะที่สุดในไทย พร้อมเผย 9 จังหวัด ปลอดขอทาน

17 สิงหาคม 2567

วราวุธ ศิลปอาชา เผยสถานการณ์ปัญหาขอทานในประเทศไทยระยะเวลา 10 ปี เปิด 4 จังหวัด ขอทานเยอะที่สุดในไทย พร้อมเผย 9 จังหวัด ปลอดขอทาน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขอทานในประเทศไทยระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์ปัญหาขอทาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 31 กรกฎาคม 2567 พบผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำการขอทานไทย ร้อยละ 65 และผู้ทำการขอทานต่างด้าว ร้อยละ 35 สำหรับปีงบประมาณ 2567 พบผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 506 ราย  

 

เปิด 4 จังหวัด ขอทานเยอะที่สุดในไทย พร้อมเผย 9 จังหวัด ปลอดขอทาน

ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำการขอทานไทย จำนวน 331 ราย (ร้อยละ 65) และผู้ทำการขอทานต่างด้าว จำนวน 175 ราย (ร้อยละ 35) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 ร้อยละ 20.47 ในจำนวนนี้เป็นผู้ทำการขอทานซ้ำ ร้อยละ 24.28 

นายวราวุธ กล่าวว่า พื้นที่ที่พบผู้ทำการขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ และในปีงบประมาณ 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และลพบุรี

 

เปิด 4 จังหวัด ขอทานเยอะที่สุดในไทย พร้อมเผย 9 จังหวัด ปลอดขอทาน

และไม่พบผู้ทำการขอทานใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล นครพนม ลำปาง น่าน เพชรบุรี ตาก และพังงา ส่วนสาเหตุการกระทำการขอทาน

1.ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา

2.ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง

3.ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน

4.อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ โดยปกติคนขอทาน มักมีพฤติกรรมที่น่าสงสาร บ้างมีข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ ที่เกิดจากความพิการ หรือความบกพร่องทางสติปัญญา หรือบางกรณีนำไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดกฎหมาย

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน สร้างความเข้าใจในการให้ทาน การส่งเสริมทัศนคติใหม่ในการให้ทานของประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขอทานในสังคมไทย และการให้โอกาสให้คนขอทานได้แสดงศักยภาพของตนเอง ให้สามารถประกอบอาชีพ ใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน” ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

โดยภายในงาน มีกิจกรรมประกอบด้วยการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และกรุงเทพมหานคร การประชาสัมพันธ์ผ่านคลิปรณรงค์ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมท่าอากาศยาน และกรุงเทพมหานคร สนับสนุนช่องทางในการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์นี้ 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า และมีภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมการขอทาน อาทิ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษากัมพูชา บริเวณใจกลางสยามสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 และถนนพญาไท นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว ทางกระทรวง พม. ได้จัดชุดปฏิบัติการ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทาน จำนวน 5 ชุด และยังมีการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานพร้อมกันทั่วประเทศไปพร้อมกันด้วย