ข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์รุนแรง รายแรกของไทย : วันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า แฟนเพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โพสต์แจ้งว่า เตรียมแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร clade 1 รายแรกในไทย เดินทางจากทวีปแอฟริกา ในเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอายุรกิจโกศล ชั้น 2 อาคาร 1 กรมควบคุมโรค
ตามรายงานเบื้องต้นระบุว่า กรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร (MPox) สายพันธุ์ Clade Ib รายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศคองโก ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โดยรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความกังวล เรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก ให้ความสนใจเพราะพบการระบาดของโรคสูงขึ้นในแถบแอฟริกา แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ไม่ควรติดเชื้อไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร แม้ว่าสายพันธุ์เคลดทู (Clade IIb) ที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงก็มักหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรติดเชื้อ
ส่วนสายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) ที่กังวลเนื่องจากเกิดการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสติดได้ง่ายขึ้น มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า เช่น ละอองฝอยน้ำลาย เพราะเดิมทีการติดเชื้อฝีดาษวานร จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมากๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์
"สำหรับประเทศไทย ได้ยกระดับเรื่องความเข้มข้นในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ดูถี่มากขึ้น เฝ้าระวังมากขึ้น พร้อมให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักมากขึ้น เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับ Sex Worker ก็ต้องทราบเรื่องนี้ ต้องเฝ้าระวังตัวเองมากขึ้น ดูว่าผู้ที่เข้ามานั้น มีอาการผิดสังเกต มีตุ่มแผลตามร่างกายหรือไม่" นพ.ธงชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเจอเป็นสายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) ก็ต้องรายงานกรมควบคุมโรค เพราะโอกาสการระบาดก็จะมากขึ้น ทางกรมฯ ก็จะได้ยกระดับเฝ้าระวังขึ้น