"ไอบูโพรเฟน" เป็นยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drug: NSAID) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน และลดไข้ และยาชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยทั่วไป ล่าสุด "หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี เตือน ชนิดยาห้ามกินคู่ "ไอบูโพรเฟน" อันตรายมาก อาจหัวใจวายได้ โดยระบุว่า
คำเตือน! เลือดออกภายใน เมื่อทานยาแก้ปวดเหล่านี้ร่วมกัน
หลายๆ คนมักจะใช้ยาที่ซื้อเองได้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการเจ็บป่วยอื่นๆ อาการปวดหัว ปวดหลัง อาการไข้หวัด และปัญหาอื่นๆ สามารถรักษาได้ด้วยยาสามัญบางชนิด
อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงรุนแรง หากใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทานไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมกับยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) อื่นๆ อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น เลือดออกภายในและอาจถึงขั้นหัวใจวายได้
การใช้ไอบูโพรเฟนร่วมกับพาราเซตามอลหรือโคเดอีนนั้นปลอดภัย แต่ห้ามใช้ไอบูโพรเฟนร่วมกับยาแก้ปวดอื่นๆ เช่น แอสไพรินหรือนาพรอกเซน โดยไม่ได้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน
ไอบูโพรเฟน แอสไพริน และนาพรอกเซน จัดอยู่ในกลุ่มยาเดียวกันที่เรียกว่า ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หากคุณใช้ร่วมกัน อาจเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียง เช่น
1. อาการอาหารไม่ย่อย – รวมถึงอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และท้องเสีย
2. แผลในกระเพาะอาหาร – อาจทำให้เกิดเลือดออกภายในและโรคโลหิตจาง
3. อาการปวดหัว / เวียนหัว / ง่วงนอน
4. อาการแพ้
5. ในบางกรณี อาจพบปัญหาที่ตับ ไต หรือหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง
หากคุณทานยาแก้ปวดชนิดต่างๆ แล้วมีอาการถ่ายเป็นอุจจาระสีดำ / อาเจียนเป็นเลือด (สัญญาณของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร) หรือ เท้าบวม / ปัสสาวะมีเลือด หรือไม่ปัสสาวะเลย (สัญญาณของโรคไต) ควรหยุดยา และรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก: Hirschowitz BI. Minimizing the risk of NSAID-induced GI bleeding. Cleve Clin J Med. 1999 Oct;66(9):524-7. doi: 10.3949/ccjm.66.9.524. PMID: 10535177.
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์
ขอบคุณ FB : รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี