เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่น่าตกใจอย่างมาก เมื่อสำนักงานเขตคลองสามวา ประกาศด่วน หลังมีคลัสเตอร์ยาดอง ใครที่มีประวัติดื่มสุรายาดอง สุราต้ม พิกัด ถนนหทัยราษฎร์ ถนนสามวา ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณโดยรอบ รีบไปหาหมอด่วน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย โคม่าอีก 18 ราย โดยระบุว่า
ประกาศ
แจ้งประชาชน ที่มีประวัติดื่มสุรายาดอง สุราต้ม แล้วมีอาการเหนื่อยหอบง่าย ซึม อ่อนเพลีย ตาพร่ามัวเฉียบพลัน (มักเป็นใน 12 ชม.) วิงเวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน
พิกัดบริเวณ : ถนนหทัยราษฎร์ ถนนสามวา ถนนเจริญพัฒนา และบริเวณโดยรอบ พื้นที่เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี กทม.
เข้ารับการตรวจอาการที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน
(สืบเนื่องเกิดคลัสเตอร์ ประชาชนที่มีประวัติการดื่มยาดอง เข้ารับการรักษาด้วยอาการ Methanol intoxication จำนวน 19 ราย เสียชีวิต 1 ราย และรายอื่นอยู่ในขั้นโคม่า เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลใกล้เคียง)
ศูนย์ประสานงาน War Room (เคสเมทานอล) รพ.นพรัตนราชธานี โทร. 02 548 1000
(24 ส.ค.67) เวลา 17.00 น. นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์คลัสเตอร์จากการดื่มยาดอง และเข้ารับการรักษาด้วยอาการ Methanol intoxication บริเวณชุมชนหมู่บ้านร่มทิพย์ ซอยหทัยราษฎร์ 33 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยผู้บริหารเขตคลองสามวา พ.ต.อ.ยิ่งยศ ฉลาดปรุ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ และนางดวงฤดี พันสมตน ประธานกรรมการชุมชนร่มทิพย์ ร่วมให้ข้อมูล
สำหรับกรณีซุ้มเปิดจำหน่ายยาดองในบริเวณดังกล่าว มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัว จำนวน 7 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป โดยทางด้านสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ และสั่งปิดร้าน ต้องสงสัยทุกร้าน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสรรพสามิต จะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายสุราเถื่อน และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ยาดอง-เหล้าเถื่อน เสี่ยงภาวะเป็นพิษจาก "เมทานอล" ส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
เมทานอล คืออะไร ? ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์ ? สารเมทานอล (methanol หรือ wood alcohol) จะเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล" หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง
ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (ocular toxicity) ได้
อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอธานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก
ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (snowfield vision)
นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
** หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักเสียชีวิต **
การรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วย เมทานอลจะทำให้ผู้ป่วยซึม และกดการหายใจ จึงต้องระวังเรื่องการหายใจ และต้องแก้ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยเพิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลผสมอยู่ไม่นานนัก อาจพิจารณาวิธีการใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทาง รูจมูก เพื่อนำสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือทำให้อาเจียน
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอธานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย
ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด
ที่มา : รพ.นพรัตนราชธานี, กรมการแพทย์, กองบังคับการตำรวจนครบาล 3