ปภ. สรุปสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคเหนือ" ช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 67

25 สิงหาคม 2567

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคเหนือ" ในพื้นที่ 12 จังหวัด ช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 67

สรุปสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคเหนือ" โดยทางด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 67 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานีระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช 64 อำเภอ 260 ตำบล 1,459 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 30,807 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย (เชียงราย 2 ราย พะเยา 2 ราย น่าน 3 ราย แพร่ 2 ราย ภูเก็ต 13 ราย) และผู้บาดเจ็บ 19 ราย (25 สิงหาคม 2567 เวลา 06.00 น.) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช 37 อำเภอ 156 ตำบล 940 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน ดังนี้

ปภ. สรุปสถานการณ์ น้ำท่วมภาคเหนือ ช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 67

1. จ.เชียงราย วันที่ 15 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 5,381 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ สนับสนุนรถผลิตน้ำดื่ม ขนย้ายหญ้าอัดก้อนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ เคลื่อนย้ายสุกร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนับสนุนถุงยังชีพ จำนวน 5,000 ชุด มอบแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.พญาเม็งราย ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

2. จ.พะเยา วันที่ 21 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

(24 ส.ค. 67) ระดับน้ำในกว๊านพะเยาได้ล้นประตูระบายน้ำ ซึ่งมีปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม เกินกว่าระดับเก็บกักของกว๊านพะเยาประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม โดยมีปริมาณน้ำระบายออกวันละ 7 ล้าน ลบ.ม ลงสู่แม่น้ำอิง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรด้านท้ายน้ำบริเวณอำเภอจุนและอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

3. จ.น่าน วันที่ 21 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 10,517 ครัวเรือน และดินสไลด์ ถนนหมายเลข 1081 ระหว่างบ้านง้อมเปาน้ำกลั่น ต.ขุนนาน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

4. จ.แพร่ วันที่ 21 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

5. จ.เพชรบูรณ์ วันที่ 21 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อ.วังโป่ง บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,530 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ มณฑลทหารทหารบก

ที่ 36 จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ณ วัดอรัญญาวาส ต.วังโป่ง อ.วังโป่ง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

6. จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 24 ส.ค. 67 เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ อ.ฉวาง ส่งผลให้มีน้ำท่วมผิวการจราจรบนถนนสายจันดี-ควนสงสาร บริเวณหน้าโรงงานไฟฟ้าบ้านสวนจีน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ตามปกติแล้ว

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ (25 สิงหาคม 2567 เวลา 07.00 น.) ดังนี้

1. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 24 – 30 ส.ค. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้

- พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำบริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล

- เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80

- เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ ลำน้ำงาว แม่น้ำสาย แม่น้ำอิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำก่ำ และแม่น้ำตราด

2. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค. 67 ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

3. คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 26 - 30 ส.ค. 67 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมี

ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

4. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (147 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (71 มม.) ภาคกลาง : จ.นนทบุรี (114 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (95 มม.) ภาคตะวันตก :

จ.ประจวบคีรีขันธ์ (84 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (156 มม.)

5. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (46,585 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,423 ล้าน ลบ.ม.)

ตั้งศูนย์ JIC ระดมข้อมูลน้ำท่วม เร่งสื่อสารให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการติดตามและรับข้อมูลข่าวสารของพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้

กรมประชาสัมพันธ์ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (Joint Information Center : JIC) ซึ่งจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย โดยมี สำนักข่าว

กรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และบูรณาการการทำงาน ระดมผู้ปฏิบัติงานสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ปภ. สรุปสถานการณ์ น้ำท่วมภาคเหนือ ช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 67