หากใครได้ติดตามข่าวสารวงการฟุตบอล ก็จะทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ "ทีมชาติไทย" ประกาศแยกทางกับ "มาโน โพลกิง" ชาวบราซิเลียน - เยอรมัน หัวหน้าผู้ฝึกสอนบอลไทย เนื่องจากผลงานคัดบอลโลก 2 นัดแรก ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ต่อมาได้แต่งตั้ง "มาซาทาดะ อิชิอิ" อดีตโค้ชบุรีรัมย์ยูไนเต็ดเข้ามาทำหน้าที่แทนทันที
ทางด้าน มาซาทาดะ อิชิอิ ถือเป็นโค้ชชาวญี่ปุ่นคนที่ 2 จากญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามาคุมทีมชาติไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ บอลไทยเคยได้เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นอย่าง "อากิระ นิชิโนะ" (Akira Nishino) ที่ได้เข้ามาลองคุมทีมฟุตบอลทีมชาติไทยทั้งชุดใหญ่และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีในช่วงปี 2562 - 2564 แต่ผลงานก็ยังไม่เข้าตาแฟนบอล
และต้องมาลุ้นผลงานของ อิชิอิ กับทีมชาติไทย ซึ่งผลงานของ กุนซือหมาดๆ ในวัย 56 ปี รายนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเขาเคยพาทีมเข้าชิงเจลีกคัพในปี 2558 และพาทีมคว้าแชมป์เจลีกอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2559 พร้อมได้รับสิทธิ์ในการเข้าแข่งขัน FIFA Club World Cup 2016 ซึ่งทัวร์นาเมนต์นั้นเขาทำทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ฟาดแข้งกับทีมระดับโลกอย่าง เรอัล มาดริด
ที่เซอร์ไพรส์คือ ลูกทีมของอิชิอิ" ในตอนนั้นสู้ได้อย่างสนุกสูสี กระทั่งจบเวลา 90 นาที เสมอ 2 - 2 แต่สุดท้ายก็ต้านไม่ไหว พ่ายทีมราชันชุดขาวในช่วงต่อเวลาพิเศษ 4 - 2 หลังจากนั้นผลงานทีมภายใต้การคุมบังเหียนของเขาก็ย่ำแย่ลง กระทั่งทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 2560
แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อิชิอิก็ได้เข้ารับตำแหน่งกุนซือของโอมิยะ อาร์ดีจา (เอ็นทีที คันโต ในอดีต) ทีมที่เขาเริ่มต้นอาชีพฟุตบอล แต่ผลงานไม่สู้ดีนัก อิชิอิ ทำทีมตกชั้นไปยังเจลีก 2 แต่ก็ยังได้รับโอกาสต่อในปี 2561 สุดท้ายเขาทำทีมจบอันดับที่ 5 หมดสิทธิ์เลื่อนชั้น ทำให้เขาเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งหลังจบฤดูกาล
แต่กับผลงานในสโมสรในประเทศไทย ถือว่าเขาสร้างความฮือฮาไม่น้อย หลังจากที่เขาได้ก้าวเข้ามาคุมทีม สมุทรปราการ ซิตี้ ทีมจากไทยลีกในสมัยนั้น (ปัจจุบันสมุทรปราการอยู่ในไทยลีก 2) ซึ่ง อิชิอิ ทำทีมทะยานขึ้นไปจบอันดับ 6 ของไทยลีกฤดูกาล 2562 อีกทั้งยังปั้นบรรดานักเตะภายใต้สังกัดตน ส่งติดทีมชาติไทยหลายคน
อาทิ เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์, ธีระพล เยาะเย้ย, ปฏิวัติ คำไหม และคนอื่นๆ อีกไม่น้อย แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้สมุทรปราการ ซิตี้ จบที่อันดับ 13 ในเลกแรก และในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ต้นสังกัดประกาศแยกทางกับ อิชิอิ และจบฤดูกาลเขาฝากผลงาน 1 ฤดูกาลครึ่ง ด้วยผลงานคุมทีม 50 นัด ชนะ 21 เสมอ 10 แพ้ 19
จากนั้น อิชิอิ ได้ก้าวเข้ามาคุมทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งประเดิมคุมทีมนัดแรกในการแข่งขันรีโว่ ลีกคัพ 2564 - 2565 รอบ 32 ทีม และเขาก็ได้สำแดงเดชด้วยการพาทัพปราสาทสายฟ้าคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ในประเทศ (ไทยลีก, เอฟเอคัพ และ ลีกคัพ) อีกทั้งฤดูกาลต่อมา 2565 - 2566 เขาก็ช่วยทีมป้องกัน 3 แชมป์ได้สำเร็จ
ทว่าต่อมาทางบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดได้ดึงตัว อาเธอร์ ปาปาส เข้าสู่ทีมในตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคกีฬา และนั่นเริ่มทำให้ อิชิอิ ถูกลดบทบาทในการสั่งการข้างสนามอย่างชัดเจน ในที่สุด เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ประกาศส่ง อิชิอิ ไปทำหน้าที่ประธานพัฒนาเทคนิคฟุตบอลของทีมชาติไทย ตามคำขอของ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ พร้อมยังทำตำแหน่งเฮดโค้ชของบุรีรัมย์ฯ ต่อไป
สำหรับ มาซาทาดะ อิชิอิ เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2510 ที่เมืองอิจิฮาระ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจุนเต็นโด หลังจากเรียนจบ อิชิอิ จึงได้เข้าร่วมทีมเอ็นทีที คันโต แห่งเจแปนซอกเกอร์ลีก (เจลีก ในปัจจุบัน) โดยอยู่กับทีม 2 ปี ได้รับโอกาสลงเล่นถึง 43 นัด ต่อมาจึงได้ย้ายซบซูมิโตโมะ เมทัล (คาชิม่า แอนท์เลอร์สในปัจจุบัน)ในปี 2534
ในวัยหนุ่ม อิชิอิ ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องกับต้นสังกัดใหม่ ในปี 2536 อีกทั้งยังโชว์ผลงานอันสุดยอดด้วยการพาทีมจบอันดับ 2 ของเจลีก พร้อมทั้งคว้าแชมป์ฟุตบอลเอ็มเพอเรอร์ คัพ เขาลงเล่นให้กับคาชิม่า แอนท์เลอร์สเป็นเวลา 7 ปี ลงสนามไป 109 นัด ซัดไป 3 ประตู ในช่วงท้ายของการค้าแข้ง เขาได้ย้ายสู่อวิสปา ฟูกูโอกะในปี 2541 แต่แล้วเขาก็แขวนสตั๊ดหลังจากจบฤดูกาลด้วยวัยเพียง 31 ปี
หลังจากนั้น อิชิอิ เคยหันหลังให้วงการฟุตบอลด้วยการไปเป็นพนักงานศูนย์อาหาร ก่อนจะกลับมาเดินทางในสายโค้ชกายภาพของคาชิม่า แอนท์เลอร์ส อดีตต้นสังกัดสมัยตอนยังเป็นผู้เล่นในปี 2545 เขาได้ทำงานตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง 10 ปีเต็ม ก่อนที่เขาจะได้รับโอกาสในการเป็นผู้ช่วยเฮดโค้ชในปี 2555 และในปี 2558 โตนีนโย เซเรโซ ถูกปลดจากตำแหน่ง อิชิอิ จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมชาวญี่ปุ่นคนแรกของสโมสรในรอบ 21 ปี
ต้องติดตามดูว่า อิชิอิ จะะสามารถกู้ศรัทธาบอลไทยคืนกลับมาได้หรือไม่ เนื่องจากความฝันของคนไทยที่พูดในกันทุกปีคือ "อยากไปบอลโลก" ให้ได้สักครั้ง และผลงานครั้งแรกของ อิชิอิ น่าจะเป็นเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติญี่ปุ่น ที่จะแข่งขันกันในวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 12:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว
อย่างไรก็ตาม งานจริงจังของ อิชิอิ น่าจะเป็นการปั้นทีมชาติไทยให้สู้ได้อย่างสูสีกับ ทีมชาติเหาหลีใต้ ที่มีโปรแกรมคัดบอลโลกกลุ่ม ซี อีกครั้งในช่วงเดือนปลายมีนาคม 2567
ภาพจาก Masatada Ishii และ ฟุตบอลทีมชาติไทย