ดาราศาสตร์ ตอบชัด ดาวแมว ที่แท้มีจริงหรือสมมุติขึ้นมา!?

18 ธันวาคม 2566

กระจ่างชัด "ดาวแมว" ที่เพื่อนๆหลายคนสงสัยนั้นมีจริงหรือไม่ งานนี้"ดาราศาสตร์" ตอบให้รู้เคลียร์ทุกความสงสัย...

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าดาวแมวอยู่หลายๆครั้ง และก็ต้องมีคนสงสัยอย่างแน่นอนว่าดาวแมวนั้นอยู่ไหน ล่าสุด วิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ออกมาเผยถึงเรื่องนี้ว่า ยามสัตว์เลี้ยงของใครจากไป ย่อมนำความเศร้าโศกมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ บางคนอาจอธิษฐานขอให้สัตว์เลี้ยงแสนรักได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีกว่า บางคนอาจขอให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นลูกของตนเอง อีกไม่น้อยก็อาจบอกว่าให้ไปอยู่บนดวงดาวนะลูก 

 

ดาราศาสตร์ ตอบชัด ดาวแมว ที่แท้มีจริงหรือสมมุติขึ้นมา!?

 

คนที่ขอให้สัตว์เลี้ยงไปอยู่บนดวงดาว ก็จะกำหนดชื่อดาวสมมุติเอาไว้ให้สัตว์เลี้ยงไปอยู่  หมาตาย ก็บอกให้ไปอยู่ดาวหมา นกตาย ก็ให้ไปอยู่ดาวนก แมวตาย ก็บอกว่าไปอยู่ดาวแมวนะ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็พูดไปด้วยความผูกพันและความอาลัยโดยไม่ทันได้คิดว่า ดาวหมา ดาวนก ดาวแมว มีจริงหรือไม่

นับตั้งแต่สมัยโบราณ นักดาราศาสตร์แบ่งพื้นที่บนผืนฟ้าออกเป็นส่วน ๆ และเรียกแต่ละส่วนว่ากลุ่มดาว ชื่อของกลุ่มดาวก็ตั้งตามรูปร่างของดาวที่เรียงกันในพื้นที่นั้น เหมือนบ้างไม่เหมือนบ้างก็แล้วแต่ในจำนวนกลุ่มดาวมาตรฐาน 88 กลุ่มที่กำหนดโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล มีจำนวนหนึ่งที่เป็นชื่อสัตว์ มีทั้งหมา นก งู ปลา และอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ตอนนี้ว่าด้วยเรื่องของดาวแมว จึงขอพูดถึงกลุ่มดาวที่เกี่ยวข้องกับแมวเพียงอย่างเดียว ในกลุ่มดาวมาตรฐานมีกลุ่มดาวที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับสัตว์ในตระกูลแมวอยู่สามกลุ่ม คือ กลุ่มดาวแมวป่า (Lynx) กลุ่มดาวสิงโต (Leo) และกลุ่มดาวสิงโตเล็ก (Leo Minor)

เริ่มกันที่กลุ่มดาวแมวป่าก่อน พูดถึงแมวป่า อย่าเพิ่งไปนึกถึงแมวป่าในไทยที่ชาวบ้านเรียกเสือกระต่าย กลุ่มดาวแมวป่าตั้งชื่อมาจากชื่อละตินว่า Lynx  ลิงซ์เป็นแมวจำพวกหนึ่ง อาศัยในเขตหนาว พบทั้งในแคนาดา ยุโรป และตอนเหนือของเอเชีย รูปร่างบึกบึน ขนปลายหูยื่นยาว หน้าตาออกไปทางผู้ร้ายสักหน่อย ไม่ได้น่ารักแบบแมวบ้าน

กลุ่มดาวแมวป่ามีดาวสว่างไม่มาก สังเกตยาก อยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนคู่กับกลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวโบราณ ปรากฏเป็นกลุ่มดาวครั้งแรกตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 โดยโยฮันเนส เฮเวเลียส 

 

ดาราศาสตร์ ตอบชัด ดาวแมว ที่แท้มีจริงหรือสมมุติขึ้นมา!?
 

กลุ่มดาวสิงโต มีชื่อในภาษาละตินว่า Leo เป็นกลุ่มดาวโบราณอีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 2 โดยทอเลมี น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่นักดูดาวรู้จักกันดี เพราะเป็นกลุ่มดาวโดดเด่น  เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี เป็นกลุ่มดาวประจำราศีสิงห์ มีดาวสว่างหลายดวง เช่นดาวเรกิวลัส (ดาวหัวใจสิงห์) ดาวเดเนโบลา รูปร่างของกลุ่มดาวก็คล้ายกับสิงโตจริง ๆ ซึ่งบนท้องฟ้ามีกลุ่มดาวไม่กี่กลุ่มนักหรอกที่จะมีรูปร่างใกล้เคียงกับชื่อ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางของฝนดาวตกสิงโตหรือเลโอนิดส์ที่โด่งดังอีกด้วย 

กลุ่มดาวสิงโตเล็ก เขียนเป็นละตินว่า Leo Minor อยู่ระหว่างกลุ่มดาวสิงโตกับกลุ่มดาวหมีใหญ่ มีขนาดเล็กและไม่โดดเด่น แม้แต่ดาวดวงที่สว่างที่สุดในกลุ่มก็ยังมีอันดับความสว่างเกิน 3 กลุ่มดาวนี้กำหนดขึ้นโดยโยฮันเนส เฮเวเลียส เช่นเดียวกับกลุ่มดาวแมวป่า

 

ดาราศาสตร์ ตอบชัด ดาวแมว ที่แท้มีจริงหรือสมมุติขึ้นมา!?

 

ถึงตรงนี้ คนรักแมวอาจคิดน้อยอกน้อยใจว่า เหตุใดจึงไม่มีกลุ่มดาวแมวบ้านให้ชัด ๆ ไปเลย มีแต่ญาติแมว ทีสัตว์ชนิดอื่นยังมีกลุ่มดาวเป็นของตัวเองได้ กลุ่มดาวชื่อหมาก็มีตั้งหลายกลุ่ม กิ้งก่า งู ปู ปลา อีกทั้งสัตว์ประหลาดอีกสารพัดก็ยังอุตส่าห์มีกลุ่มดาว แล้วทำไมกลุ่มดาวแมวถึงไม่มี

ใครบอกล่ะว่าไม่มี

ในศตวรรษที่ 18 นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เฌโรม ลาล็องด์ ก็คิดแบบนี้เหมือนกัน นอกจากลาล็องด์เป็นนักดาราศาสตร์แล้ว เขายังเป็นนักเขียน และยังเป็นคนรักแมวอีกด้วย ลาล็องด์รับไม่ได้ที่ไม่มีกลุ่มดาวแมวอยู่บนฟ้า จึงตั้งกลุ่มดาวแมวขึ้นมาเองเสียเลย มีชื่อในภาษาละตินว่า Felis  กลุ่มดาวนี้อยู่ระหว่างกลุ่มดาวเครื่องสูบลมกับกลุ่มดาวไฮดรา ปรากฏในแผนที่กลุ่มดาวเป็นครั้งแรกใน Bibliographie Astronomique ที่ตีพิมพ์โดยลาล็องด์เองในปี 1805 กลุ่มดาวแมวเป็นที่ยอมรับอยู่ร่วมศตวรรษ แผนที่ดาวหลายฉบับในยุคต่อมาก็บรรจุกลุ่มดาวแมวลงไปด้วยรวมถึงแผนที่ดาวชื่อ อูราโนกราเฟีย อันลือลั่นของ โยฮัน โบเดอ ด้วย
  

แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด ในการกำหนดกลุ่มดาวมาตรฐานสากลซึ่งจัดขึ้นโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลในปี 2473 กลุ่มดาวแมวกลับไม่ติดโผเป็นกลุ่มดาวมาตรฐาน ชื่อของกลุ่มดาวแมวจึงกลายเป็นอดีตไปนับแต่นั้นมา 

แม้ชื่อกลุ่มดาวแมวจะไม่มีอีกแล้ว แต่ชื่อ Felis ยังคงอยู่บนฟ้า ในปี 2561 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้นำชื่อ Felis ไปตั้งให้แก่ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่เคยอยู่ในกลุ่มดาวแมวมาก่อน ดาวดวงนั้นคือ เอชอาร์ 3923 (HR 3923) หากจะเรียกเป็นไทย ๆ ก็จะเป็นชื่ออื่นใดไปมิได้นอกจาก "ดาวแมว" ดาวแมวอยู่ที่ตำแหน่ง 09h 54m 52s-19° 00’ 33” อยู่ในกลุ่มดาวไฮดรา มีชนิดสเปกตรัมเค 5 สีส้มอันดับความสว่าง +4.9 จัดว่าเป็นดาวที่มีแสงจางมาก หากจะมองดาวดวงนี้ ต้องดูในสถานที่ที่มืดไร้แสงรบกวน 
 

 

ขอบคุณ สามาคมดาราศาสตร์ไทย