ตะขาบบ้านขายาว ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scutigera sp.
เป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิด และไม่มีการแพร่กระจายในประเทศไทย แต่เรามักเห็นข่าวการพบเจออยู่ตามบ้านเรือน และถูกจัดให้เป็นสัตว์หน้าตาประหลาด ตะขาบบ้านขายาว เป็นสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) ลักษณะที่โดดเด่น และเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนแยกได้ว่าเป็นตะขาบ คือขาที่ยื่นออกมาจากปล้องลำตัวโดย 1 ปล้อง จะมีขายื่นออกมา 1 คู่
และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ตะขาบแตกต่างจากกิ้งกือ โดยกิ้งกือ 1 ปล้อง จะมีขายื่นออกมาปล้องละ 2 คู่ นั่นเอง ตะขาบบ้านขายาวที่เรามักจะพบตามบ้านเรือนนี้มักจะออกหากินในเวลากลางคืน จะจับกินพวกแมลงขนาดเล็กและแมงมุมเป็นอาหาร ตะขาบบ้านขายาวมีวิธีการล่าเหยื่อที่เรียกว่า lassoing เป็นวิธีการที่มันใช้ขาของมันเปรียบเสมือนเชือก เพื่อใช้ดึงเหยื่อไว้และบริเวณปลายขาจะสามารถพันรอบเหยื่อได้เพื่อป้องกันการหลบหนี จากนั้นจะมีการฉีดพิษผ่านโครงสร้างที่คล้ายเขี้ยวที่อยู่บริเวณขาคู่แรกของมัน และตะขาบบ้านขายาวนี้ยังมีการเคลื่อนที่รวดเร็วมากถึง 30 ซม.ต่อวินาทีเลยทีเดียว (โดยประมาณ)
แม้ตะขาบจะฟังดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัว แต่เจ้าตะขาบบ้านขายาวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เรา เนื่องจากเป็นตะขาบที่มีขนาดเล็ก มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร และมีเขี้ยวที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะฉะนั้น หากพบเจอตะขาบบ้านขายาวเป็นผู้อยู่อาศัยร่วมกันกับเรา อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะจริง ๆ แล้วตะขาบนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นผู้ล่าที่สามารถช่วยกำจัดแมลงรอบบ้านเราได้อย่างดีเยี่ยม
ข้อมูล : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Natural history Museum
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ Khaolak-Lamru National Park
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)