1.โรคผิวหนังจากเชื้อรา
แมวที่เป็นเชื้อราจะมีอาการขนร่วงเป็นวงหรือหลุดออกมาเป็นหย่อม ๆ มีการตกสะเก็ดและแดงอักเสบ กรณีชั้นผิวหนังถูกทำลายมากอาจทำให้มีการติดเชื้ออย่างอื่นแทรกซ้อนและกระตุ้นให้เกิดอาการคัน และที่ต้องระวังคือเชื้อราสามารถติดต่อสู่คนและได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงหรือผ่านทางสิ่งแวดล้อม
2.โรคผิวหนังจากปรสิตภายนอก
- ที่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น หมัด เห็บ
เห็บหมัดตัวจิ๋วแบบนี้แต่อันตรายกับน้องแมวมาก ๆ แมวที่แพ้น้ำลายหมัดจะมีอาการคัน ขนร่วง ผิวหนังแดง หากเป็นมากอาจมีการอักเสบและติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งหากไม่จัดการหมัดให้หมด แมวของเราก็จะผิวหนังอักเสบเพราะแพ้น้ำลายหมัดตลอดไป
- ที่ต้องขูดตรวจส่องกล้องจุลทรรศน์ เช่น ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง ไรในหู
ไรขี้เรื้อนเป็นปรสิตภายนอกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับเห็บหมัด แต่จะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สัตวแพทย์ต้องตรวจโดยการขูดผิวหนังไปส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยไรพวกนี้ก็จะอาศัยในรูขุมขนบริเวณใบหน้าแมว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า ทำให้เจ้าเหมียวของเราขนร่วง ตุ่มผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะตามขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอก และข้อเท้าของขาหลังด้านนอก บางตัวอาจมีอาการคันอย่างรุนแรงจนนอนไม่ได้หรือทำให้ความอยากอาหารลดลง
ส่วนไรในหูเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวด้านในช่องหูและบริเวณใกล้เคียง พบได้ทั้งในน้องหมาและน้องแมว พวกนี้จะอาศัยไขมันและเศษผิวหนังเป็นอาหาร สามารถติดต่อโดยการสัมผัสได้ อาการที่พบได้คือแมวจะมีขี้หูเยอะมาก ลักษณะออกสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีอาการคันหูรุนแรง บางตัวอาจคันแล้วสะบัดหัวจนเส้นเลือดฝอยที่ใบหูแตกจนทำให้ใบหูบวมหรือเกาหูจนเกิดการอักเสบได้
3.โรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย
โรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียพบได้บ่อยในน้องแมว น้องจะมีอาการคัน ผิวหนังแดงและมีตุ่มหนอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและอาจเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้การรักษาใช้เวลายาวนานยิ่งขึ้น สาเหตุที่พบบ่อย ๆ คือ ระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนังลดลง น้องแมวชอบอยู่ในที่เปียก ๆ หรือเกิดจากการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น
การรักษาขึ้นอยู่กับว่าการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังอยู่ระดับไหน เพราะถ้าระดับผิวบน ๆ อาจจะใช้แค่แชมพูยาร่วมกับการทำความสะอาดแผลก็เพียงพอ แต่ถ้าระดับผิวหนังชั้นกลางอาจจะต้องทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการใช้แชมพูยา แต่ถ้าระดับผิวหนังชั้นลึกอาจจะต้องทำการเพาะเชื้อเพื่อเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมในการรักษา เพราะส่วนใหญ่เป็นเคสที่ต้องใช้ระยะเวลารักษานานและเชื้อมีโอกาสต้านยาได้ง่าย
ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน